โควิด-19 ระบาดในเด็กแสดงอาการช้า?!? สหรัฐฯเด็กป่วย 480,000 คนเพิ่มขึ้นกว่า 17% ใน2สัปดาห์ ขณะที่ทั่วโลกพุ่งทะลุ 800,000 คน

2191

CDC สหรัฐเปิดเผยสถิติเด็กติดโควิด-19 ในสหรัฐ ประชากรที่เป็นเด็กของสหรัฐคิดเป็น 22% ติดเชื้อ 7% จากจำนวนติดเชื้อทั้งหมดของผู้ใหญ่ หากนับตามหน่วย AAPและ CHA ของสหรัฐจะพบว่าเด็กติดเชื้อถึง 480,000 คนเพิ่มจากกลางเดือนสิงหาคมเพิ่มกว่า 17% ขณะทั่วโลกตัวเลขคาดการณ์กว่า 800,000 คนประเทศไทยจะเปิดเรียนเต็มรูปแบบต้องไม่ประมาทเพราะเพื่อนบ้านรอบๆเราเผชิญโควิด-19 รอบ2แล้ว

สำนักข่าวซินหัว-วอชิงตัน รายงานว่า สถาบันกุมารศาสตร์อเมริกัน (AAP) และสมาคมโรงพยาบาลเด็ก (CHA) ของสหรัฐ เปิดเผยสถิติ (31 ส.ค.2563) การตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ใหม่ โควิด-19 ในวัยเด็ก 480,000 รายนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ในประเทศ

 

แม้ผู้ป่วยวัยเด็กในสหรัฐฯ ครองสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.5 ของกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดที่จำแนกตามช่วงอายุ แต่สหรัฐฯตรวจพบเด็กที่มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกแล้ว 476,439 ราย ขณะเดียวกันภาพรวมอัตราผู้ป่วยเด็กอยู่ที่ 631 รายต่อประชากรเด็ก 100,000 คน

รายงานเปิดเผยว่า สหรัฐฯตรวจพบผู้ป่วยเด็กเพิ่ม 70,330 ราย ระหว่างวันวันที่ 13-27 ส.ค.2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในช่วงสองสัปดาห์ ขณะสัดส่วนเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ที่ ร้อยละ 0.6-4.1 ของจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด และมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0-0.3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งหมด

“ปัจจุบันดูเหมือนว่า อาการเจ็บป่วยรุนแรงเนื่องจากโควิด-19 ในกลุ่มเด็กยังพบได้น้อย แต่รัฐต่างๆควรเผยแพร่รายละเอียด เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 การตรวจโรค การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่จำแนกตามช่วงอายุต่อไป  เพื่อบันทึกและติดตามผลกระทบโรคโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพของเด็ก” รายงานระบุ

รายงานผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ เจเอเอ็มเอ (Pediatrics) ระบุว่าเด็กที่ป่วยโรคโควิด-19 ใช้เวลาในการขับเชื้อไวรัสออกจากร่างกาย นานหลายสัปดาห์แท้พวกเขาเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือหายจากโรคแล้วก็ตาม

ประเทศเกาหลีใต้นักวิจัยได้ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี จำนวน 91 คน ระหว่างวันที่ 18 ก.พ.-31 มี.ค.ในโรงพยาบาล 20 แห่ง และสถานกักตัวที่ไม่ใช่โรงพยาบาล 2 แห่งทั่วเกาหลีใต้

ผลการศึกษาเปิดเผยว่า ผู้ป่วย 22% ไม่แสดงอาการของโรค และมีผู้แสดงอาการเพียง 8.5% เท่านั้น ที่ถูกตรวจพบเมื่อเริ่มมีอาการ ขณะที่ผู้ป่วย 66.2% มีอาการที่ไม่รู้จักก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยและ 25.4% เริ่มมีอาการหลังการวินิจฉัย จากการศึกษาตรวจพบอาร์เอ็นเอ (RNA)ของไวรัสโควิด-19 อยู่ในผู้ป่วยเด็กเป็นเวลาเฉลี่ย 17.6 วันและ 14.1 วันในกรณีของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การตรวจคัดกรองอาการไม่สามารถระบุถึงการติดเชื้อส่วนใหญ่ในเด็กได้ นอกจากนี้อาร์เอ็นเอของไวรัสโควิด-19 ยังถูกตรวจพบในร่างกายเด็กเป็นระยะเวลานานอย่างไม่คาดคิดด้วย

ประเทศสหรัฐฯจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงที่ในหลายพื้นที่เตรียมเปิดภาคเรียน ที่มีทั้งแบบการเรียนในห้องเรียนและการเรียนผ่านออนไลน์ ขณะที่บางแห่ง ซึ่งเปิดการเรียนการสอนแล้ว มีนักเรียนและครูติดเชื้อ ทำให้อีกหลายพันคนต้องกักตัว เช่น รัฐมิสซิสซิปปี มีนักเรียนเกือบ 4,000 คนและครูอีกเกือบ 600 คนต้องกักตัวเนื่องจากเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ขณะที่ทั่วทั้งรัฐ มีครูติดเชื้อ 144 คน และนักเรียนติดเชื้อ 292 คนในปลายเดือน

เฉพาะในนนครนิวยอร์กและอีก 21 รัฐที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่โรงพยาบาล พบว่า มีเด็กติดเชื้อเข้ารักษาตัว 0.4%-4.6% และในนครนิวยอร์กกับอีก 45 รัฐที่รายงานผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 พบว่า มีสัดส่วนที่เป็นเด็ก 0%-0.3%

นอกจากนี้สัดส่วนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 13 คนต่อเด็ก 1 แสนคนในช่วงกลางเดือนเม.ย.เป็น 583.2 คนต่อเด็ก 1 แสนคนในวันที่ 20 ส.ค. และสัดส่วนผู้ป่วยเด็กจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วประเทศเพิ่มจาก 2% เป็น 9.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตัวเลขประมาณการของUNICEF น่าตกใจ

ยูนิเซฟรวบรวมสถิติผลกระทบการระบาดโควิด-19 กับเด็กทั่วโลกเป็นร้อยละจากคนป่วยทั่วโลก ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เด็กป่วยคิดเป็นร้อยละ 11, ประเทศรายได้สูง เด็กป่วยคิดเป็น 7%, สำหรับประเทศรายได้ยากจนประมาณร้อยละ 23  หากคิดตัวเลขจากรายงานสถิติผู้ป่วยรายงานโดย worldometersinfo ทั้งโลกป่วยสะสม 25,898,952 ราย(2 ก.ย.2563) เป็นเด็กจะมากกว่า 8 แสนรายเสียอีก อย่างไรก็ตามที่ตัวเลขชัดเจน ยังไม่ปรากฏทั้ง WHO, มหาลัยฮอปสกินส์,สหรัฐ หรือยูนิเซฟเอง เพราะยังมีข้อถกเถียง ถึงปัจจัยแวดล้อม ทุกฝ่ายจึงยังไม่กล้าฟันธงตัวเลขที่ถูกต้อง เป็นการประเมินอัตราร้อยละ กว่าจะรู้ชัดคงจะต้องให้โควิด-19 คลี่คลายก่อนกระมัง

WHO เตือนให้เด็กสวมหน้ากาก-รักษาระยะห่าง

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำให้เด็กที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ด้วยเงื่อนไขเดียวกับผู้ใหญ่ หากไม่สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพจากผู้อื่นได้ในระยะอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อ้างอิงหลักฐานว่า วัยรุ่นสามารถส่งต่อเชื้อให้กับผู้อื่นได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

โดยเด็กอายุระหว่าง 6 -11 ปีจะใส่หน้ากากหรือไม่ควรพิจารณาจากขอบเขตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในพื้นที่หรือเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยงสูง อย่าง ผู้สูงอายุ หรือไม่ โดยผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ใส่และถอดหน้ากากอย่างปลอดภัย ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยในสถานการณ์ปกติ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ เทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ตั้งความหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยุติลงได้ภายในระยะเวลา 2 ปี เช่นเดียวกับไข้หวัดสเปนที่เคยแพร่ระบาดเมื่อปี 1918 พร้อมระบุด้วยว่า ถึงแม้ไวรัสจะแพร่กระจายได้ง่ายกว่า 100 ปีก่อน แต่เทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ช่วยให้มนุษยชาติมีเครื่องมือต่าง ๆ ในการหยุดยั้งการระบาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเช่นกัน

เด็กกับ COVID-19

ปัจจัยต่างๆ เช่น การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่เพิ่มสูง การรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนที่เพิ่มขึ้น และการกลับไปโรงเรียนในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาด อาจส่งผลให้มีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กมากขึ้น

“จำนวนเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมักเกิดในจุดที่มีการแพร่ระบาดสูง เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และแอริโซนา การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ในรัฐเหล่านี้ ทำให้เด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย” จางจั้วเฟิง ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและรองคณบดีฝ่ายวิจัยร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิสกล่าว

ในรายงานล่าสุดข้างต้นระบุว่าพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ที่เป็นเด็กจำนวน 179,990 ราย ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.- 6 ส.ค. คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 ในช่วง 4 สัปดาห์

นับถึงวันที่ 6 ส.ค. มีรายงานผู้ป่วยเด็กทั้งหมด 380,174 รายในสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของผู้ป่วยทั้งหมด

อัตราเด็กติดเชื้อโดยรวมคิดเป็น 501 คนต่อประชากรเด็ก 100,000 คน มีเด็กเข้ารับการทดสอบในรัฐประมาณร้อยละ 3-12 ของทั้งหมด และเด็กจำนวนร้อยละ 3.7-18.6 ที่รับการทดสอบได้ผลออกมาเป็นบวก

-สแตนลีย์ เพิร์ลแมน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไอโอวา กล่าวว่า “จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจแค่สะท้อนจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป” แต่ภาวะอักเสบมากผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็กเป็นเรื่องน่ากังวล

-จางจั้วเฟิงกล่าวว่าการติดเชื้อในเด็กที่เพิ่มขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น มีการรวมตัวกันในหมู่เด็กๆ มากขึ้นและการกลับไปโรงเรียนในช่วงที่มีการระบาด นอกจากนี้ มีเด็กๆ ที่ติดเชื้อโควิด-19 ราวร้อยละ 0.3-8.9 รักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่เป็นเด็กคิดเป็นร้อยละ 0-0.4

จางชี้ว่าเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มักจะมีอาการไม่รุนแรงและอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่เจ็บป่วยรุนแรงนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน หอบหืด และโรคอื่นๆ

โรงพยาบาลกรุงเทพเผยแร่ข้อสังเกตุเด็กที่ติดโควิด-19

-โรคติดเชื้อ Covid-19 หรือชื่อที่เป็นทางการคือ SAR–CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสที่พบการระบาดครั้งแรกที่เมือง Wuhan ประเทศจีนในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากนั้นได้มีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เมื่อเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันหลายล้านคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายแสนคนทั่วโลก โรคนี้ได้มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบนอกประเทศจีน Covid-19 เป็นไวรัสในตระกูล Corona Virus รายงานระยะแรกพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่อายุน้อยกว่า 18 ปีมีเพียง 2.2% ในประเทศจีนและ 2% ในสหรัฐอเมริกา

-เด็กที่ติดเชื้อ Covid-19 มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 (หลังเริ่มมีการระบาดอย่างหนักในยุโรปประมาณ 1 เดือน) กุมารแพทย์ในประเทศอังกฤษพบเด็กป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อก ซึ่งคล้ายกับ Toxic Shock Syndrome และบางรายมีผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งในผู้ป่วยบางคนมีอาการครบข้อบ่งชี้ของการวินิจฉัยโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนารี (Coronary Artery) เหมือนกับเด็กที่เป็น Kawasaki Disease โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อ Covid-19 มาก่อน โดยอาจจะพบหรือไม่พบเชื้อในทางเดินหายใจของผู้ป่วยก็ได้

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ของประเทศสหราชอาณาจักรได้มีการออกจดหมายเตือนกุมารแพทย์เกี่ยวกับโรคดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้ชื่อว่า Pediatric Multisystem Inflammatory Syndrome – Temporally Associated with Covid-19 (PIMS-TS) หลังจากนั้นได้มีการยืนยันว่าพบภาวะดังกล่าวในเด็กจากอีกหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยบางรายมีอาการรุนแรงจนทำให้เด็กเกิดการเสียชีวิต ส่วนทาง Center for Disease Control (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการออกคำเตือนเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยให้ชื่อว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with Covid-19 (MIS-C)