นักวิเคราะห์มองตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2เผยแพร่ออกมา เป็นบวก 3.2% ชัดเจนว่าฟื้นตัวแรงกว่าที่คาด นับว่าเป็นประเทศแรกในโลกก็ว่าได้ ด้วยนโยบายการเงินการคลังที่ถูกต้อง ฟื้นฟูการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และทำกิจกรรมเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เป็นบทเรียนให้หลายประเทศและไทยเองต้องศึกษาแบบอย่างความสำเร็จของจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ระดับสองของโลกนี้ กสิกรไทยมองครึ่งปีหลังยังโตต่อเนื่อง
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ได้วิเคราะห์ ตัวเลขเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำนักวิเคราะห์หลายฝ่ายอึ้งไป เนื่องจากล่าสุด จีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนกรกฎาคมออกมา ซึ่งสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น และดูท่าจะฟื้นตัวแรงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก่อนหน้านี้อีกด้วย
ด้านการบริโภคภายในประเทศ จีนมุ่งหวังจะใช้เป็นกลไกหลักหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ก็ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ โดยอยู่ที่ระดับ -1.1% หลังจากที่เคยติดลบระดับสองหลักในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่มีการล็อกดาวน์ในหลายเมือง และขยับดีขึ้นโดยลำดับจนเหลือ -1.8% ในเดือนมิถุนายน
ด้านการค้าปลีกในเขตชุมชนเมืองนับว่าขยายตัวดี โดยสัญญาณเชิงบวกเกิดขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นอื่นเพิ่มขึ้นแรง ที่น่าสนใจคือ สินค้าในตลาดบนบางรายการ อาทิ เครื่องสำอางและเครื่องประดับเริ่มฟื้นตัวโดยขยายตัวถึง 9.2% และ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ
การจัดกิจกรรมกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนสำคัญที่มีผลในทางบวก ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลดับเบิ้ล 5 และดับเบิ้ล 6 ซึ่งน่าจะมีกิจกรรม “ดับเบิ้ล” รายเดือนต่อเนื่อง และขึ้นพีกสุดในวันคนโสด “ดับเบิ้ล 11” ที่คนจีนเฝ้าหน้าจอคอมและสมาร์ตโฟนกันชนิดข้ามวันข้ามคืน
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังผลักดันกิจกรรมพิเศษเพื่อชดเชยเวลาที่เคยสูญเสียไปให้กลับคืนมา และเดินหน้าแก้ปัญหาการว่างงานควบคู่กันไป โดยรัฐบาลร่วมมือกับเอกชนเดินหน้ากิจกรรม “เศรษฐกิจยามราตรี” และ “เศรษฐกิจหาบเร่แผงลอย” กลายเป็นว่าในหลายเมืองใหญ่มีการจัดกิจกรรมสไตล์ “ถนนคนเดินยามค่ำ” ในทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ดึงคนออกมากจับจ่ายใช้สอยและทำกิจกรรมนอกบ้านได้อีกมาก
สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว 2.7% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสามเดือนต่อเนื่องหลังจากที่ขยายตัว 2.4% และ 2.5% ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ตามลำดับ
ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวของจีนก็เริ่มกลับมาเบ่งบาน การเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวข้ามมณฑลทำให้ตลาดการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว แถมในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนเป็นช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ที่ชาวจีนนิยมพาลูกหลานเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะส่งผลให้การซื้อบริการอาหารในภัตราคาร โรงแรม และสินค้าไม่จำเป็นกลับมาสะพัดอีกครั้ง หลายฝ่ายจึงคาดว่า ภาคการบริโภคโดยรวมจะขยับเป็นบวกได้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุปสงค์ก็ส่อเค้าว่าจะฟื้นตัว แต่ยังคงขยายตัวน้อยกว่าด้านอุปทาน กล่าวคือ ภาคการผลิตฟื้นตัวแรงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาสินค้าหน้าโรงงาน (PMI) ในเดือนกรกฎาคมขยายตัวถึง 52.8 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับแตปี 2011 หลังจากที่ดัชนีผงกหัวขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่ 6 ของปี
การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับ 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้ายานยนต์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เครื่องจักรเครื่องมือ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่ขยายตัวในอัตราระดับสองหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
ขณะเดียวกัน PMI ด้านการบริการของจีน อยู่ในระดับ 54.1 ซึ่งถือว่าขยายตัวดีแต่ก็ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาที่แตะระดับ 58.4 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับสู่สภาพปกติ แทนที่จะพึ่งการค้าออนไลน์ดังเช่นช่วงครึ่งแรกของปี
การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ยังคงหดตัวที่อัตรา -1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็สังเกตเห็นการเติบโตในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ภาคการขนส่ง การสาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งสะท้อนว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะเพิ่มการลงทุนในส่วนนี้
ในด้านการค้าระหว่างประเทศที่หลายฝ่ายเห็นว่า ตัวเลขที่มีแนวโน้มดีขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 2 เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย เนื่องจากการชะลอตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ทองแดง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น แต่ตัวเลขเดือนกรกฎาคมก็ทำเอานักวิเคราะห์หน้าแตกกันอีกรอบ เมื่อการส่งออกของจีนเติบโตถึง 7.2% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินไว้อย่างมาก การขยายตัวดังกล่าวได้รับอนิสงค์จากการส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอและหน้ากากที่ขยายตัวถึง 31.3% ขณะที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็พุ่งแรงถึงถึง 47.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การนำเข้าของจีนก็ลดลง 1.4% ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1%
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้การเกินดุลการค้าของจีน ณ เดือนกรกฎาคมขยับขึ้นเป็น 62,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 46,420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และสูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจ 7 เดือนแรกของจีนได้ส่งสัญญาณเชิงบวก แต่ผมเองก็ยังคิดว่ารัฐบาลจีนไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะต้องเผชิญกับคบื่นลมแรงที่รออยู่ ในด้านหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในจีน และข้อขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งฮ่องกงและไต้หวันจะดีขึ้นโดยลำดับ แต่ก็อาจเป็นเพียง “ภูเขาน้ำแข็ง” เพราะก็ไม่ทราบว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดฝันอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต
บางส่วนยังจับตามองการประชุมของคณะผู้แทนการค้าอาวุโสระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีวาระจะทบทวนผลการดำเนินการตาม “ยกแรก” ของการสงบสงครามการค้าในอนาคต แต่ที่แน่ๆ กลางเดือนกันยายนจะมีเรื่องใหญ่ที่ต้องหาข้อสรุปเกี่ยวกับการซื้อขายกิจการของบริการวีแชต (Wechat) และติ๊กต็อก (TikTok) ให้ธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่ควันหลังอีกมากในอนาคต ยิ่งเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก็จะมีงานใหญ่มากมายรออยู่ อาทิ งานฉลองวันชาติจีน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการจัดงานแสดงสินค้า China International Import Expo
ประการสำคัญ เมื่อประเมินวิกฤติโควิด-19 ของโลกก็คาดว่าสถานการณ์จะลากยาวข้ามปี ซึ่งนั่นหมายความว่า จีนจำเป็นต้องพึ่งพาภาคเศรษฐกิจภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง และยังถูกกดดันจากเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการแก้ไขปัญหาการว่างงานและขจัดความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินภายในสิ้นปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมอง 6 เดือนหลังของปี 2563 มีแนวโน้มรุ่งต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเทศจีนมีการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ผล ช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2563 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ร้อยละ 3.2 YoY
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 แนวคิดการออกมาตรการผ่อนปรนของทางการจีนที่ให้บริษัทนำเที่ยวสามารถกลับมาจำหน่ายแพ็คเกจท่องเที่ยวภายในประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศและช่วยสร้างการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวของจีนกว่า 28 ล้านคน อาทิ ธุรกิจที่พักและโรงแรม ขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่แน่ชัดจากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแรง
จากมุมมองในช่วงครึ่งปีหลังที่เป็นบวกมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 (YoY) โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนจากอานิสงส์ของมาตรการภาครัฐ สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองต่อภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี 2563 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 3.0 ต่อปี ภายใต้หลายประเด็นความเสี่ยงที่อาจกดดันการฟื้นตัวของจีน โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ