ซีพีควบรวมโลตัส?!? ปมร้อนเขย่าความเชื่อมั่น “ผูกขาด-ถอนทุน” คาดเงื่อนไขกขค. 7 ข้อคุมไม่อยู่

2126

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติเมื่อ 6 พ.ย. เปิดทางให้กลุ่มธุรกิจในเครือซีพี เข้าควบรวมกิจการค้าปลีกของเทสโก้ โลตัส หลายฝ่ายกังขาว่า กขค. มีมาตรการปกป้องผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการฯเสียงข้างน้อยออกมาแจงเหตุผลที่คัดค้านเสียงส่วนใหญ่ (4:3) ว่าการควบรวมทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการผูกขาดค้าปลีกไทย ดังนั้นแม้ผลจะออกมาว่าเป็นผลดีในการดำเนินธุรกิจของซีพี แต่ความข้องใจที่ยังไม่เคลียร์ เป็นหน้าที่ที่กขค.ต้องทำความกระจ่าง ซึ่งจนปัจจุบัน คณะกรรมการเสียงข้างมากยังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากกว่าที่ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว

ขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทย กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป  และการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด คณะกรรมการการแข่งขันการค้า (กขค.) ได้อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส(ประเทศไทย) จำกัด นั่นคือ “กลุ่มซีพีควบรวมโลตัสสำเร็จ” ทำซีพีและคู่ค้าโล่งอก แต่สาธารณชนยังคาใจ

สำหรับกลุ่ม CP เป็นผู้ชนะการประมูลในการซื้อกิจการของ Tesco ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมูลค่าในการซื้อกิจการครั้งนี้อยู่ที่ 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 335,415 ล้านบาท ผ่าน บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งทาง บมจ. ซีพี ออลล์ และกลุ่ม CP ถือหุ้น 40% เท่าๆ กัน ที่เหลืออีก 20% เป็นของทาง บริษัท ซี พี เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CPF อีก 20%

กขค.เสียงข้างมากฟันฉับ “ไม่ผูกขาด”

เอกสารชี้แจงสื่อมวลชน เสียงข้างมาในบอร์ดกขค. ยอมรับว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวทำให้ธุรกิจค้าปลีกของซีพี “มีอำนาจเหนือตลาดที่จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น” แต่ “ไม่เป็นการผูกขาด” และมองกว่า “มีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น” และอาจส่งผลให้ “การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่”ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง” รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อ “ประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม”

อนุญาตภายใต้ 7 เงื่อนไข

มติที่อนุมัติให้ควบรวม อยู่บนเงื่อนไข 7 ข้อ คือ

  1. ห้ามรวมธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกเป็นเวลา 3 ปี ไม่รวมตลาดอีคอมเมิร์ซ
  2. เพิ่มสัดส่วนยอดขายจากสินค้าเกษตรชุมชน เอสเอ็มอี หรือผลิตภัณฑ์ OTOP ในร้านค้าในเครือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10% เป็นเวลา 5 ปี
  3. ห้ามใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ และให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า
  4. ห้ามให้เทสโก้ โลตัสเปลี่ยนแปลงสัญญากับซัพพลายเออร์สินค้าเป็นระยะเวลา 2 ปี
  5. ให้สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการให้สินเชื่อการค้าเป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี
  6. ให้จัดทำรายงานผลประกอบการธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กขค. กำหนดเป็นเวลา 3 ปี
  7. ให้กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

เลขาธิการ กขค. ซึ่งเป็นผู้อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาขอบเขตตลาดเป็น 2 ตลาดใหญ่ คือ ตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีก และคณะกรรมการฯ มองว่าเมื่อพิจารณาในส่วนตลาดค้าส่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นหลักไม่เปลี่ยนแปลงคือ แมคโคร ส่วนผู้เล่นรายอื่นคือร้านค้าท้องถิ่น

ส่วนในหมวดค้าปลีกประกอบด้วย 3 ตลาด ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อ เลขาธิการ กขค. ชี้แจงว่าสองหมวดแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้น กลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะผู้เล่นรายใหญ่ 2 รายควบรวมกิจการกัน

การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่โดยตรง เนื่องจากเครือซีพีมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การเป็นผู้ผลิตอาหาร เมล็ดพันธุ์ผัก กลางน้ำ เช่น ธุรกิจเนื้อสัตว์แปรรูป และปลายน้ำเป็นกลุ่มร้านค้าส่งและปลีก

กขค.เสียงข้างน้อยระบุผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ

วันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา นำโดย ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. และกรรมการอีกสองคนคือ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ ที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวของเสียงส่วนใหญ่ ประกอบด้วยเหตุผล 4 ประการดังนี้

1.การรวมธุรกิจระหว่างกลุ่มซี.พี. และเทสโก้ โลตัส มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มซีพีเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภทที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีธุรกิจทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีกทุกขนาด (ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก

  1. การรวมธุรกิจดังกล่าวจะผลกระทบต่อคู่แข่ง นอกจากที่กลุ่มซีพีจะมีอำนาจเหนือตลาดแล้ว และการที่มีธุรกิจในกลุ่มประเภทค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้คู่แข่ง หรือแม้แต่ผู้เล่นรายใหม่จะเผชิญกับความยากลำบากในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจไม่สามารถปรับตัวได้และออกจากตลาด ในที่สุดก็จะส่งผลต่อทางเลือกผู้บริโภคที่ลดน้อยลง

หลังจากการรวมกิจการแล้วจำทำให้เครือซีพี มีธุรกิจกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นจากสาขาของเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรสอีก 1,574 แห่ง จากเดิมที่มีเซเว่น อีเลฟเว่น 12,225 สาขา ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว

  1. การรวมธุรกิจนี้ ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ หรือซัพพลายเออร์ เนื่องจากภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้จะทำให้เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดอยู่แล้ว จะมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มซัพพลายเออร์มากยิ่งขึ้น

4.ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก

นายสันติชัย ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาค่าการกระจุกตัวของตลาดผ่านดัชนี HHI พบว่าหลังควบรวมธุรกิจระหว่างกลุ่มซี.พี. กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ค่า HHI จะอยู่ที่ 4,000 และค่าการเปลี่ยนแปลง HHI อยู่ที่ระดับ 1,700 ซึ่งสะท้อนว่าตลาดมีการกระจุกตัวสูงมาก

ดัชนี HHI หรือ Herfindahl-Hirshman Index คือ มาตรวัดค่าการแข่งขันและการกระจุกตัวของตลาดสินค้าและบริการหนึ่ง ๆ ก่อน และหลังการควบรวมกิจการ เป็นหลักเกณฑ์จากหน่วยงานกำกับการดูแลการแข่งขันการค้าของสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission)

สำหรับกรรมการ กขค. เสียงข้างมากที่เห็นด้วยและอนุมัติการรวมธุรกิจนี้ ประกอบด้วย นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ นายสมชาติ สร้อยทอง ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล และนายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์