คนไทยฝากความหวัง!!! ปัญหาปากท้อง-วัดฝีมือทีมเศรษฐกิจใหม่ หนี้เก่า 2 เดือนแตะ  5.45 แสนล้าน หนี้ใหม่รอแก้ จับตารับมือสีนามิเศรษฐกิจ”รุ่ง” หรือ “ร่วง”?!!?

1922

ประเทศไทยได้ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่แล้ว ความคาดหวังสูงตามมา ขณะนี้สภาวะกดดันชัดเจนแนวโน้มเศรษฐกิจยังหนักหนาสาหัส GDP ติดลบ ตัวเลขลูกหนี้สถาบันการเงิน ประมาณ 12.8 ล้านบัญชี  ซึ่งรวมกลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจรายย่อย ถ้ากลายเป็นหนี้เสียยอดหนี้ทะลุ 12.83 ล้านล้านบาท หนี้เดิมคงค้าง 60 วันจำนวน 5.54 แสนล้าน นี่คือโจทย์ใหญ่ทางการเงินการคลังที่ รมต.เศรษฐกิจชุดใหม่ต้องรีบเข้ามาแก้ จะสร้างสมดุลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร?  ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งการเงินการคลัง ภาคธุรกิจ และที่สำคัญตอบโจทย์แก้ปัญหาปากท้องภาคประชาชน  

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าคาดว่าสัปดาห์หน้า จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไทยงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมา ซึ่งหลายคนคาดว่าจะเห็นตัวเลขจีดีพีติดลบ 2 หลัก พร้อมกับคาดกันว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี และหลังจากนี้จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าตัวเลขน่าจะออกมาในทำนองนั้น  เพราะช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีการล็อกดาวน์ประเทศทุกอย่าง และทำให้กิจกรรมการทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะงักตัวลงไป  แต่ปัญหาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยพิจานาตัวแปรที่น่าเป็นห่วงดังนี้่

1.มีตัวแปรที่อาจจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะดุดได้  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ลูกหนี้มาขอผ่อนปรนการผ่อนชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา  ดูจำนวนตัวเลขผู้ขอผ่อนปรนถึงวันที่ 15 มิ.ย.2563 พบว่ามีจำนวนกว่า 12.8 ล้านบัญชีที่ ขอไม่จ่ายดอกเบี้ยและไม่คืนเงินต้น  มูลค่าประมาณ 6.86 ล้านล้านบาท ซึ่งคิด 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด ซึ่งอันนี้สะท้อนถึงปัญหาของคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น หรือที่เราเรียกว่า “NPL:Non-Performance Lone” หนี้เสียนั่นเอง

2.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีมูลหนี้ในกลุ่มนี้ราว 2.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวน 1.1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและกลุ่มที่สภาพคล่องไม่ยาว รวมถึงยังมีรายย่อยอีกกว่า 11.5 ล้านราย มูลค่าหนี้กว่า 3.77 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าขนาดของปัญหาตรงนี้ใหญ่กว่าตอนวิกฤติปี 2540 มาก

  1. เดือนต.ค.นี้มาตรการผ่อนปรนของธปท.จะหมดลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ลูกหนี้มีการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินจำนวนมาก และอาจมีการชะลอการปล่อยวงเงินหรือการให้สินเชื่อใหม่และจะส่งผลให้มีโอกาสที่จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจปิดกิจการเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสสูงที่จะฉุดให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 สะดุดลงไปอีก

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่ามองว่าแม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ก็มีแรงต้านให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งประเมินว่าแม้จะมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำเร็จเข้ามาในช่วงสิ้นปีนี้ แต่กว่าภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือภายในปี 2565 เพราะเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ด้วยเหตุผลดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2/2563 ที่คาดว่าจะหดตัวลึกสุดในรอบปี ที่จะเผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ถึงกระนั้นก็คาดว่าผลจะเป็นไปตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลังเคยประเมินไว้ว่า ไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุด แล้วมีแนวโน้มจะค่อยๆฟื้น หากไม่มีปัจจัยลบทั้งนอกประเทศและในประเทศมาเขย่า

-ประเมินประสิทธิผลของมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในระยะ 2  ที่ล่าสุดได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี  สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  รวมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน พร้อมกับเพิ่มวงเงินหมุนเวียนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล เพื่อช่วยลดภาระของภาคครัวเรือน และบรรเทาปัญหาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มเติมไปจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ปัจจุบันถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทีมเศรษฐกิจใหม่ของทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ซึ่งตลาดคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการทางการเงินและการคลังชุดใหม่ที่สอดประสานกันในระยะข้างหน้า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ขณะที่ความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง (policy space) มีจำกัดมากขึ้น ภาครัฐคงต้องพิจารณาออกนโยบายที่มุ่งเน้นให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคงพยายามดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย แต่จะมุ่งเน้นนโยบายที่จะมีประสิทธิผลต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยตรง และมีผลกระทบต่อกลไกทางเศรษฐกิจมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเพื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศต่อไป ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะสั้นนี้ และจะต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่กระจุกตัวอยู่กลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว 

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือนโยบายทางการเงิน แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ ประสิทธิผลของการปรับลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งลดลง แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น อาทิ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดซ้ำรอบสอง-สาม เป็นต้น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็อาจยังคงมีความเป็นไปได้ในระยะข้างหน้า ดูสถานการณ์โลกและ FED เราก็คงพอจะประเมินได้

………………………………………………………………