3หน่วยรัฐคุยทูต-องค์กรฯโลก121ปท.แจงม็อบป่วนขบวนเสด็จ ยันจนท.สลายตามหลักสากล

6212

จากที่กระทรวงการต่างประเทศ โดย นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

ทั้งนี้โดยทั้งหมดได้ร่วมกันบรรยายสรุปให้แก่คณะทูต และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมในประเทศไทย รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ดำเนินรายการ มีคณะทูตและผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ 84 คน รวมถึงระดับเอกอัครราชทูต 37 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย

ต่อมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังบรรยายสรุปว่า ในการชี้แจง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายให้คณะทูตทราบถึงสถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้มีกลไกในการนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รวมถึงชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มมีเหตุเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะ รวมถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม ที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ ประกอบกับความเสี่ยงต่อสถานการณ์โควิด-19 จึงนำไปสู่การออกประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ขณะที่พ.ต.ท.กฤษณะ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการออกคำสั่ง หรือข้อกำหนด โดยยืนยันว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ตามหลักสากล และดำเนินการอย่างมีขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก นอกจากนี้ นายอนุชา ยังได้อธิบายกระบวนการดำเนินการในขั้นต่อไปของรัฐบาล โดยจะรับฟังปัญหา และข้อเรียกร้องจากประชาชนทุกฝ่าย การสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงชี้แจงว่ารัฐบาลเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเป็นทางออก และลดความตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องกับการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

“คณะทูต ได้สอบถามถึงการคาดหวังของสภาจะเป็นอย่างไร ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพื่อนำไปรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในสภา รวมถึงสอบถามเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า การดำเนินการของรัฐได้เคารพสิทธิของสื่อและผู้ชุมนุม ส่วนเรื่องการสลายการชุมนุม วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเกิดพัฒนาการของการชุมนุมที่รุนแรงขึ้น เกิดความเสี่ยงของการกระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุม และผู้เห็นต่าง รวมถึงมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อขบวนเสด็จก่อนนี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการสลายการชุมนุม” นายธานี กล่าว

ที่มา : ภาพแถลงไทยโพสต์