เปิดลึก UN โหวต2ครั้ง คะแนนค้านรัสเซียหายเกือบครึ่ง ขณะเสียงหนุน-งดออกเสียงพุ่ง 4 เท่า

1819

จากที่มีการลงมติของสหประชาชาติ ในเรื่องของรัสเซีย ที่ถูกชาติตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป ร่วมคว่ำบาตร และมีมติถึงการเข้ารุกรานยูเครน ซึ่งผลการลงมติที่สำคัญครั้งใหญ่ สองครั้งมีความน่าสนใจเป็นในตัวเลขที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง!?!

โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เมื่อ UN แขวนสมาชิกภาพรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ โดยไม่มีการสืบสวนทั้งๆที่รัสเซียร้องขอเปิดประชุมไต่สวน สุดท้ายตัดสินให้แขวน ทำให้รัสเซียประกาศลาออกจากสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

ทั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ลงมติระงับการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องและการผลักดันของชาติตะวันตก ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับชาติสมาชิกลงมติสนับสนุนร่างข้อมติดังกล่าว 93 เสียง คัดค้าน 24 เสียง โดยประเทศที่คัดค้าน อาทิ รัสเซีย จีน ลาว เวียดนาม อิหร่าน คาซักสถาน เบลารุส และหลายประเทศในแอฟริกา โดยมีประเทศที่งดออกเสียง 58 ประเทศ รวมถึงไทย

กระนั้นเองในความเคลื่อนไหวนี้ถูกตั้งข้อสังเกตุว่าถูกผลักดันโดยสหรัฐฯ สมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งคะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ชาติในนิวยอร์ก ไม่รวมคะแนนของประเทศที่งดออกเสียง มีความจำเป็นสำหรับระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 47 ประเทศ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเจนีวา

The results of a vote on a resolution concerning the Ukraine are displayed during an emergency meeting of the General Assembly at United Nations headquarters, Wednesday, March 2, 2022. (AP Photo/Seth Wenig)

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ปรากฏว่า ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงมติประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย จากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (The United Nations General Assembly) โดยมติประณามท่วมท้นมีผู้แทนจาก 141 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ รวม เมียนมา ก็ร่วมโหวตประณามด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มี 5 ประเทศโหวตคัดค้าน การประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ได้แก่ รัสเซีย, เบลารุส, ซีเรีย, เอริเทรีย และเกาหลีเหนือ  ขณะที่อีก 35 ประเทศ ที่งดออกเสียงในประเด็นนี้ อาทิ จีน,คิวบา,อินเดีย,อิหร่าน,อิรัก,คาซัคสถาน, สปป.ลาว, ปากีสถาน , เวียดนาม เป็นต้น

ต่อมาที่สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย มีการจัดแถลง โดยนายโทมิคิน กล่าวช่วงหนึ่งเมื่อสื่อถามว่า รู้สึกเช่นไรกับท่าทีของรัฐบาลไทย ทำให้เอกอัครราชทูตรัสเซียตอบว่า รัสเซียเคารพจุดยืนของเพื่อนทุกคน หลักการทูตของรัสเซียคือไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศนั้นๆ และเราขอขอบคุณที่ไทยมีท่าทีสมดุลท่ามกลางแรงกดดันจากชาติตะวันตก

เมื่อถามว่าคิดเช่นไรกับการที่รัฐบาลไทยร่วมโหวตสนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประณามรัสเซียรุกรานยูเครนและเรียกร้องให้ถอนทหารโดยทันที นายโทมิคินกล่าวว่า รัสเซียเข้าใจรัฐบาลไทย ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเราทราบว่า รัฐบาลสหรัฐฯสั่งให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯที่อยู่ในประเทศต่างๆกดดันรัฐบาล สิ่งที่สหรัฐฯทำอยู่ขณะนี้คือการระดมพันธมิตรต่อต้านรัสเซียที่เตรียมการมานาน อย่างข้อตกลงออกัส สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือการรวมกลุ่มควอด สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย-อินเดีย-ญี่ปุ่นนั่นก็ใช่

นอกจากนี้เมื่อถามว่า หากไทยเปลี่ยนท่าทีแล้วจะถูกรัสเซียตีตราว่าเป็นประเทศที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย เหมือนดังที่มีข่าวรายชื่อ 22 ประเทศหรือไม่ ซึ่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ตอบว่า รัสเซียได้เห็นความพยายามสร้างสมดุลของรัฐบาลไทย จึงมองว่าไม่จำเป็นที่วันนี้จะต้องมาพูดกันเรื่องนี้

“เราอยากขอขอบคุณทุกหน่วยงานของไทยที่ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ประสบปัญหาจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว การส่งนักท่องเที่ยวรัสเซียกลับประเทศไม่มีปัญหา เพราะมีการวางระบบกับไทยไว้แล้วตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ติดอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับวีซ่าซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานแก้ไขกันอยู่ และอยากขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ที่ช่วยมาดูแลความเรียบร้อยพื้นที่สถานทูตรัสเซียช่วงการชุมนุมประท้วง” นายโทมิคิน กล่าว