ไบเดนตอกย้ำแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกกับสิงคโปร์ที่เยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ หลังผู้นำสหรัฐฯเพิ่งกลับจากการกล่อมให้ยุโรปต้านรัสเซียมาหมาดๆ สิงคโปร์ประกาศไปครั้งนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือกับรัฐบาลวอชิงตันในหลายระดับ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี เปิดหน้าแกนหลักในอาเซียนว่ายังคงซื่อสัตย์ต่อวอชิงตันไม่เปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ไม่เป็นกลางแต่เป็นติ่งอเมริกา
ขณะเดียวกันอีกฟากหนึ่งของโลก 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทย เพิ่มด้วยปานามาอีกรายกำลังจะไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งก็ยืนยันแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบและเส้นทางเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การเมืองเข้าด้วยกัน เรียกว่าแข่งกันดุเดือดไม่แพ้สงครามตัวแทนในยูเครน
The partnership between Singapore and the United States is as close and strong as it’s ever been. pic.twitter.com/kIoC59u7R0
— President Biden (@POTUS) March 29, 2022
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565 สำนักข่าวรอยเตอร์และโกลบัลไทมส์รายงานว่า ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ ให้การต้อนรับและพบหารือกับนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ผู้นำสหรัฐกล่าวขอบคุณ “ความเป็นผู้นำตามหลักการของสิงคโปร์” ในการมอบความสนับสนุนแก่ยูเครน ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แล้วกล่าวต่อว่า แม้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในเวลานี้ เน้นการให้ความสำคัญกับวิกฤติการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่รัฐบาลวอชิงตันมีความพร้อมเร่งการขับเคลื่อนนโยบาย ตามแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เช่นกัน
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ไบเดนกล่าวถึงแผนการประชุมสุดยอดร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสถานการณ์ในเมียนมา
ขณะที่ลีกล่าวว่า สิงคโปร์ “คือหนึ่งในหุ้นส่วนที่ดีมากของสหรัฐ” และคาดหวังการยกระดับความสัมพันธ์ในทุกมิติที่เป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและความมั่นคง ที่รวมถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งทั้งสองประเทศใช้โอกาสนี้ ประกาศจัดตั้งกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ระดับทวิภาคี ตลอดจนการแสวงหาช่องทางความร่วมมือใหม่ นอกจากนี้ ผู้นำสิงคโปร์กล่าวด้วยว่า “ความสัมพันธ์ที่ดี” ระหว่างสหรัฐกับจีน จะเป็นผลดีต่อทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกันที่จีน หวาง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แจ้งว่ารมว.ต่างประเทศจากอาเซียน 4 ประเทศและปานามาจะมาเยือนปักกิ่งเพื่อพูดคุยเรื่องโครงการBRI
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย, ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทย, ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ และวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา จะเยือนจีนระหว่างวันที่ 31 มี.ค. ถึง 3 เม.ย.2565 ตามคำเชิญของหวัง ยี่ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน
หวังกล่าวว่าเอริกา โมอุยเนส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปานามา จะเยือนจีนในวันที่ 4 เม.ย. ด้วยเช่นกัน โดยอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ล้วนเป็นสมาชิกสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) รวมถึงเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของจีนและหุ้นส่วนสำคัญในโครงการก่อสร้างคุณภาพสูงของแผนริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทาง (BRI: Belt and Road Initiative)
ปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาตร์ที่ครอบคลุมระหว่างจีน-อาเซียน โดยจีนเฝ้ารอทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อบังคับใช้ฉันทามติของการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-จีน เมื่อปีที่แล้ว และส่งเสริมแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative) เพื่อเป็นผู้นำในพื้นที่โดยรอบ
นอกจากนั้นหวังกล่าวว่าจีนจะดำเนินการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับฝ่ายอื่นๆ ต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศในปัจจุบัน เพื่ออัดฉีดพลังงานเชิงบวกสู่สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเพิ่มขึ้น ตลอดจนความมั่งคั่งรุ่งเรืองและการพัฒนาของโลกร่วมกัน
สถานการณ์โดยรวมด้านความเคลื่อนไหวของสหรัฐกับอาเซียนนี้ บทบรรณาธิการของโกลบัลไทมส์ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นแกนหมุนเชิงยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯในการเล่นเกมช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่วอชิงตันไม่เข้าใจตรรกะของการพัฒนา ของประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งมีประชากรมากกว่าสหภาพยุโรป มีความหลากหลายของเชื้อชาติ แต่ส่วนใหญ่มีฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอและต้องเผชิญกับภารกิจการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ในขณะที่บางประเทศยังไม่รอดจากความวุ่นวาย ความกระหายในสันติภาพ ความต้องการพัฒนานั้นเข้ากันได้อย่างสูงกับทัศนคติของจีน แต่ตรงกันข้ามกับเส้นทางที่สหรัฐฯใช้ คือเน้นสร้างความแตกแยก ครอบงำผลประโยชน์ฝ่ายเดียว
การประชุมสุดยอดพิเศษระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมที่กรุงวอชิงตัน ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยทำเนียบขาวเป็นผู้ประกาศวันที่เพียงฝ่ายเดียว จากนั้นจึงเปลี่ยนวันที่ที่ผู้นำอาเซียนเสนอครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้ไม่สามารถหาวันที่ลงตัวได้ จะเห็นว่าใครเคารพกลุ่มประเทศอาเซียน และใครใช้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวประกัน
ตั้งแต่เกิดวิกฤตในยูเครน ฟิลิปปินส์ก็มีเสียงสะท้อนโต้แย้งว่า ประเทศจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงชะตากรรมแบบยูเครน ปฏิเสธการก่อกวนของวอชิงตัน และหลีกเลี่ยงการกลายเป็นเครื่องมือสงครามตัวแทน ของอำนาจใด ๆที่จะไปกดดันอีกฝ่ายหนึ่งแม้ว่า ฟิลิปปินส์จะเข้าร่วมซ้อมรบครั้งใหญ่กับสหรัฐฯก็ตาม
สถานการณ์ล่าสุดในยูเครนเป็นการเตือนไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกว่าความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถรับประกันได้ ด้วยค่าใช้จ่ายในการบ่อนทำลายความมั่นคงของผู้อื่น และความมั่นคงระดับภูมิภาคนั้นไม่สามารถรับประกันได้ด้วยการเสริมกำลังหรือขยายกลุ่มทหาร ประเทศในเอเชียต่างไม่เต็มใจที่จะทำซ้ำปัญหาที่วอชิงตันทำในยุโรปอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
สันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียนั้นหามาได้ยาก และไม่สามารถทำลายล้างโดยประเทศนอกอาณาเขตได้ วอชิงตันต้องการบังคับใช้แนวคิดด้านความปลอดภัยแบบเก่าในเอเชีย โดยทิ้งขยะสงครามเย็นลงในมหาสมุทรแปซิฟิก แม้กระทั่งพยายามสร้าง “นาโต้เวอร์ชันอินโดแปซิฟิก” แต่ในที่สุดมันจะพังทลายลงไม่มีวันประสบความสำเร็จ