รัฐบาลสั่งตรึงพลังงานยกแผง อุ้มน้ำมันดีเซลบี7 ลดเงินเข้ากองทุน1บาท ส่วนแอลพีจีคุมราคาเพื่อภาคครัวเรือนลากยาวถึงม.ค.2565 ป้องกันสินค้าขึ้นราคา สะกัดเงินเฟ้อไม่ให้ลุกลาม ท่ามกลางวิกฤตพลังงานทั่วโลก
วันที่ 5 ต.ค. 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ว่า ที่ประชุมอนุมัติแนวทางการดูแลราคาดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลบี7 จาก 1 บาท เหลือ 0.1 บาทต่อลิตร มีผลให้ราคาดีเซลบี7 ลดลงทันทีลิตรละ 1 บาท มีผล 5 ต.ค.วันนี้
ปัจจุบันที่สถานการณ์ราคาของไบโอดีเซล(บี100) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อลิตร ที่ประชุมจึงมีมติให้ปรับลดสัดส่วนการผสมบี100ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงจากเดิมที่ผสมอยู่ในสัดส่วน 10% หรือบี10 และ 7% หรือบี7 ให้เหลือ 6% หรือบี 6 เป็นการชั่วคราวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค.2564 เท่านั้น ทำให้เหลือน้ำมันดีเซลจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน 2 ชนิด คือดีเซล บี6 และบี20
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า
“การผสมบี100 ในสัดส่วนที่มากอาจจะทำให้ราคาดีเซลนั้นเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งปัจจุบันมีราคาเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรแล้ว โดยกลไกดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซล บี6 จะอยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยประมาณ 2 บาท โดยการปรับลดครั้งนี้จะเป็นมาตรการระยะสั้น ซึ่งจะมีการทบทวนราคาน้ำมันตลาดโลกอีกครั้งภายในช่วงสิ้นเดือนต.ค. นี้ หากราคาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีก็อาจจะกลับมาเป็นเช่นเดิม แต่ถ้ายังสูงอยู่ก็อาจจะต่อมาตรการนี้ต่อไปเพื่อคงราคาน้ำมันไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพประชาชน”
การสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลรอบนี้ที่ใช้เงินกองทุนนั้นรวมเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสถานะกองทุนอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในวันที่ 5 ต.ค. นี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯในส่วนของน้ำมันดีเซล บี 7 ลงเหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร ก่อนที่จะมีการงดใช้ในวันที่ 11 ต.ค. พร้อมให้ปรับลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี 7 เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร จากเดิมมีค่าเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ยังเตรียมมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลค่าน้ำมันและค่าครองชีพประชาชนโดยจะขอใช้วงเงินช่วยเหลือจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้เพื่อช่วยเหลือตามมาตรการโควิด-19 เข้ามาบรรเทาความช่วยเหลือ เช่น
–การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือนม.ค.2565 จะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อเดือน
–การดูแลค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อออกมาตรการที่จำเป็นต่อไป
การช่วยเหลือด้านแอลพีจี ล่าสุดได้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและบัญชีน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด เนื่องจากติดลบจากการอุดหนุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จนใกล้เพดานที่กำหนด 1.8 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อนุมัติวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน(ต.ค.2564-ม.ค.2565) เพื่อตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มแบบถังขนาด 15 กก. ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่าการปรับลดสัดส่วนการผสม บี100 ในน้ำมันดีเซลลงนั้น จะทำให้มีการใช้งานในส่วนนี้ลดลงจาก 4 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 3 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยอมรับว่าภาคเอกชนผู้ผลิตอาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ไม่หนักเนื่องจากปัจจุบันราคาอยู่ในระดับที่สร้างผลตอบแทนได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกทั้งสัญญาระยะยาว และในระบบตลาดจร(สปอต) ได้อย่างต่อเนื่อง
เรื่องราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งสูงเป็นผลกระทบจากคลื่นวิกฤตพลังงานทั่วโลกที่มีปัจจัยผลักดันหลายประการ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งอเมริกา(Bankn of America) ออกคำเตือนว่า ราคาน้ำมันคาดว่าจะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นฤดูหนาวนี้ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งต่อไปได้
นักวิเคราะห์เตือนว่าความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นและความกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงอาจเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์โลกได้
ข้อมูลจากบริษัทข้ามชาติระบุว่า การเปลี่ยนจากก๊าซเป็นน้ำมันด้วยราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงเป็นประวัติการณ์อาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูหนาวที่หนาวเย็นกว่าปกติ ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีกครั้งก็คาดว่าจะกระตุ้นความต้องการน้ำมันเครื่องบิน นักวิเคราะห์กล่าวว่า “หากปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงขึ้นและนำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อรอบที่สองทั่วโลก”