“เยอรมัน” ผวาจะไม่มีก๊าซใช้ ส่งสัญญาณเลิกงัดข้อรัสเซีย หลัง “ปูติน” ยื่นคำขาด เดินเกมบีบกลุ่ม G7

1616

จากกรณีที่ทางการรัสเซีย ออกมาประกาศระบุว่า จะไม่ส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปใช้ฟรี ๆ แน่ หลังยื่นเงื่อนไขให้จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิล แต่ถูกกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ปฏิเสธเสียงแข็ง โดยที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มี.ค. 2565 ยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ให้บรรดา “ชาติที่ไม่เป็นมิตร” ต้องจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล อีกหนึ่งมาตรการแก้เผ็ดของมอสโกหลังจากที่โดนสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปรุมคว่ำบาตรจากกรณียูเครน

และมีรายงานว่า ธนาคารกลางรัสเซีย รัฐบาลเครมลิน และรัฐวิสาหกิจก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งส่งออกก๊าซป้อนความต้องการของยุโรปถึง 40% จะต้องเสนอแผนการรับชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลต่อประธานาธิบดีปูติน ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้

ขณะที่ในบรรดาประเทศอียูด้วยกัน มีรายงานความเคลื่อนไหวว่า การตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ของปูติน ก่อให้เกิดความหวั่นกลัวมากเป็นพิเศษในเยอรมนี ชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและก็เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยก๊าซรัสเซียอย่างมากมาย โดยเห็นกันว่าหากการส่งก๊าซรัสเซียมายังเยอรมนีเกิดการสะดุดติดขัด จะส่งผลกระทบหนักทั้งต่ออุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน

 

ถ้าไม่มีก๊าซจากรัสเซีย เศรษฐกิจเยอรมนีจะเผชิญ “ความเสียหายอย่างมหึมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงถ้าหากมีหนทางใดๆ ที่จะหลีกเลี่ยงได้” ลีออนฮาร์ด เบิร์นบอม ซีอีโอของบริษัทผลิตไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ E.ON บอกกับทีวีเยอรมนี โดยระบุว่า เยอรมนีจำเป็นต้องใช้เวลา 3 ปีทีเดียวจึงจะสามารถเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งก๊าซรัสเซียได้

ในกรณีที่เกิดการติดขัดขึ้นมา เขาอธิบายว่าทางผู้กำกับตรวจสอบเครือข่ายก๊าซของเยอรมนีจะให้ความสำคัญแก่การทำความร้อนของครัวเรือนมากกว่าการใช้ในทางอุตสาหกรรม ดังนั้นพวกโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล อย่างเช่น ผู้ผลิตเหล็กกล้า จะต้องแบกรับความเสียหายเป็นรายแรก ๆ ถ้าเกิดการตัดลดก๊าซ


ขณะที่มาร์คุส เคร็บเบอร์ ซีอีโอของ RWE กิจการสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และเป็นลูกค้ารายหนึ่งของก๊าซพรอม บอกว่า เยอรมนีจะสามารถรับมือได้เพียงช่วงเวลาสั้นมาก ๆ เท่านั้น ถ้าการนำเข้าก๊าซรัสเซียต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การ โครงสร้างพื้นฐานก๊าซยุโรป แสดงให้เห็นว่า สถานที่เก็บก๊าซของอียูเวลานี้มีก๊าซอยู่เพียงแค่ราว 26% ของจำนวนเต็ม ตัวเลขนี้ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความลำบากในการหาผู้จัดส่งพลังงานรายอื่น ๆ มาแทนที่รัสเซีย