วิกฤตโควิด-19 เปิดโปงความล้มเหลวทรัมป์!?! แฉระบบสาธารณสุขสหรัฐเอื้อบริษัทยา ห่วงแต่กำไรไม่สนใจชีวิตคนอเมริกัน

2055

ทรัมป์ออกคำสั่งพิเศษให้ลดราคายารักษาโรค เพื่อพยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นักวิเคราะห์คาดไม่มีผลมากมายอะไร เพราะปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ของคนอเมริกันวิกฤตสาหัสในทุกวันนี้  เพราะความล้มเหลวในการจัดการแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ของทรัมป์ และโครงสร้างระบบสุขภาพของสหรัฐเอื้อนายทุนมากกว่าปกป้องคุ้มครองคนอเมริกันทั้งประเทศ 

ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ย.2563) สั่งให้บริษัทยาขายยาราคาถูกลง “ถ้าการเจรจาสำเร็จลุล่วง เราก็ไม่ต้องออกคำสั่งพิเศษอีกฉบับเพื่อกดดันพวกเขา” ทรัมป์กล่าว คำสั่งพิเศษโดยประธานาธิบดีเสนอให้ราคายาที่เหมาะสม รวมทั้งระบบประกันสุขภาพ แบบ B และแบบ D มี แนวความคิดคือการประกันสุขภาพต้องไม่คิดค่ายาแพงกว่าราคาต่ำสุดในท้องตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรยอมรับได้ว่า คนอเมริกันจะต้องจ่ายค่ายาชนิดเดียวกันและผลิตในที่เดียวกันในราคาที่สูงกว่า” เนื้อหาในถ้อยแถลงคำสั่งพิเศษระบุไว้

เอกสารคำสั่งพิเศษนี้ได้เคยลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 แต่ไม่ได้เผยแพร่ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารย์จากบริษัทยาขนาดใหญ่ในสหรัฐในทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ทรัมป์ได้ผ่อนปรนให้บริษัทยาไปคิดเสนอทางออกที่เหมาะสมมาเสนอ แต่ไม่มีการดำเนินการตอบรับแต่อย่างใด จนกระทั่งใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์จึงหยิบประเด็นนี้มาดำเนินการอีกครั้ง นักวิเคราะห์ในสหรัฐเองมองว่า คงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลระบบสาธารสุขของสหรัฐแต่อย่างใด สภาพทุกวันนี้ก็ประมาณว่ารัฐใคร ใครก็ดิ้นรนไปตามกำลังความรู้ความสามารถและ กำลังงบประมาณ

พรรคเดโมแครตชูโอบามาแคร์-ทรัมป์ชงยกเลิก/สัญญาว่าของรีพับลิกันดีกว่า

ถ้าเป็นคนอเมริกันแล้วติดโควิด ต้องใ้ช้จ่ายเท่าไหร่? ข้อมูลล่าสุดประมาณ 40,000-70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 1.3 ล้านบาทต่อราย แปลว่าถ้าฐานะยากจนก็ยากได้รับการรักษา ในช่วงต้นของการระบาดในสหรัฐ เราจึงได้รับข่าวสารถึงคนอเมริกันผิวสี คนยากจน คนชรายากจนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากมาย จนถุงใส่ศพขาดแคลน

สำหรับกฎหมาย Affordable Care Act หรือที่รู้จักกันในนามโอบามาแคร์ เป็นกฏหมายที่มีชื่อเต็มว่า รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการดูแลที่จ่ายได้ (The Patient Protection and Affordable Care act)ซึ่งเดโมแครตยืนยันว่าเป็นการปรับโครงสร้างสาธารณสุขครั้งใหญ่ แต่ทรัมป์ชี้ว่า เป็นการเพิ่มภาระให้บริษัทเอกชน และทำให้ประชาชนต้องซื้อราคาประกันแพง  แต่ก็ไม่มีผลงานเสนอกฎหมายใหม่ออกมาเพราะบริษัทยาขนาดใหญ่ในสหรัฐ ขัดขวางทำรีพับพิกันตีตกเสียเอง ปัญหานี้คาราคาซังมาจนเกิดการระบาด

พรรครีพับลิกันบอกว่ากฎหมายนี้ทำให้เกิดข้อบังคับและค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทต่าง ๆ มากเกินไป โดยหลายคนบอกว่าจะทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้นำพรรคเดโมแครตหลายคนก็ยอมรับว่าโอบามาแคร์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และท้าทายให้พรรครีพับลิกันมาร่วมมือกันแก้ไขจุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้ โดยสรุปแล้วพรรคเดโมแครต-พรรครีพับลิกันเถียงกันในรายละเอียดแต่ก็ต้องบังคับซื้อประกันจากเอกชน เพียงแต่ของใครจ่ายแพงกว่ากัน ไม่ได้ให้ฟรีทั้งสองแนวคิด?

โควิด-19 แฉระบบสาธารณสุขสำหรับคนอเมริกันโดยรวมไม่เคยมี

ประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 ขณะที่ทั่วโลกและสหรัฐกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก  Robert Reich ,คอลัมนิสต์นิตยสารนิวสวีค และศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ระบบสาธารณสุขของสหรัฐไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในตอนแรกมีคนคัดค้านไม่เห็นด้วยมาก แต่ผ่านมาครึ่งปีคงต้องยอมรับเพราะ ปัญหาโควิด-19 ทั้งการจัดการ-การแก้ปัญหาของรัฐบาลทรัมป์ ส่อให้เห็นว่า ทั้งตัวบุคคลคือผู้นำและตัวระบบสุขภาพของประเทศ ทำให้ประเทศสหรัฐและคนอเมริกันล้มเหลวในการรับมือภัยพิบัติโรคระบาดอย่างน่าเศร้าใจ

นพ.แอนโทนี ฟาอูซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐซึ่งน่าจะเป็นเพียงคนเดียวในคณะบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เชื่อถือได้เมื่อเป็นเรื่องไวรัสโคโรนา เขาได้แถลงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในภาวะล้มเหลว

“ชาวอเมริกันต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าระบบสุขภาพของสหรัฐกำลังล้มเหลวต่อให้ไม่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน และในอีกไม่ช้าก็จะเป็นที่รู้กันทั่วว่าระบบสาธารณสุขไม่เคยมีอยู่จริงในประเทศนี้ การระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐอเมริกาไม่ผิดแผกกับรูปแบบการแพร่ระบาดในมณฑลอู่ฮั่นของจีนเลย ต่างกันก็แต่จีนทุ่มสรรพกำลังลงไปเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคขณะที่สหรัฐแทบไม่มีศักยภาพรับมือกับไวรัสเลย”

สหรัฐไม่มีระบบสุขภาพเพื่อดูแลคนทั้งประเทศ จะมีแต่ระบบการรักษาพยาบาลแบบมุ่งเน้นกำไรสำหรับผู้ที่มีกำลังจ่ายและระบบประกันสังคมสำหรับผู้ที่โชคดีมีงานประจำ

ทั้งสองระบบนี้ตอบสนองก็แต่ความต้องการส่วนบุคคลซึ่งไม่ใช่ความต้องการของประชาชนในภาพรวม เพราะในสหรัฐนั้นคำว่า “สาธารณะ” ในกิจการด้านการสุขภาพ การศึกษา หรือสวัสดิการสังคมหมายถึง “การรวมความต้องการส่วนบุคคลไว้ด้วยกัน” ไม่ใช่กิจการเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเงินของสหรัฐเองก็จะยิ่งเห็นความต่าง ธนาคารกลางเป็นกังวลต่อสุขภาพของตลาดเงินในภาพรวม และก็สามารถอนุมัติเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ได้ แต่พอถึงเรื่องสุขภาพของชาวอเมริกันบ้าง ไม่มีการทุ่มเงินเพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพอย่างเป็นเอกภาพ  ไม่มีองค์กรในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางเพื่อคอยดูแลและบริหารกิจการสาธารณสุข หรือพอจะสรุปได้ว่ามีการทุ่มเงินก้อนโตเพื่อป้องกันตลาดเงินล่มสลายแต่ไม่มีเงินก้อนใหญ่สำหรับป้องกันความล่มสลายของมนุษย์

การรักษาพยาบาลในสหรัฐให้บริการโดยบรรษัทเอกชนซึ่งมุ่งเน้นกำไรโดยปราศจากข้อบังคับเรื่องทุนสำรอง ด้วยเหตุนี้จำนวนเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอสำหรับรับมือกับจำนวนผู้ป่วยวิกฤติจากไวรัสโคโรนาซึ่งพุ่งขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งจำนวนเตียงห้องฉุกเฉินที่มีอยู่ราว 45,000 เตียงก็ดูจะกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่คาดว่าจะสูงถึง 2.9 ล้านคน สหรัฐไม่เคยมีระบบสาธารณสุข กล่าวคือประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไม่มีศักยภาพปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน มาตรการเยียวยาที่ออกมาจึงห่างไกลกับการแก้ปัญหาโรคระบาดที่ถาโถมเข้ามา เป็นปัญหาโครงสร้างที่เกิดจากระบบคิด เป็นใจกลาง 

“ระบบทุนนิยมเน้นกำไรสูงสุด- เงินจึงคือเป้าหมายของการทำธุรกิจ ไม่ใช้ความผาสุกและสุขภาพที่ดีของประชาชน”