สู้ไม่ถอย!? รัสเซียลั่นยูเครนต้องไม่มีนิวเคลียร์ เรื่อง‘ไครเมีย’เจรจาไม่ได้ ขณะUNกดดันขั้นสุดร้องถอนทหารทันที

712

สถานการณ์ล่าสุดของของวิกฤตยูเครน คือสหประชาติลงมติถือหางเคียฟ ประณามรัสเซียและเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติการทางทหารทันที แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่ก็ทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวในเวทีนานาชาติสำเร็จ ด้านเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของรัสเซียเปิดเผยว่าข้อเรียกร้องของยูเครน ลามมาถึงสถานะของไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นเจรจาต่อรองไม่ได้และยืนยันว่ายูเครนต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ทำให้สะดุ้งกันไปทั้งโลกก็คือ รัสเซียมองว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซียว่านายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวถึง “สถานะ” ของคาบสมุทรไครเมีย ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของยูเครน ระหว่างการเจรจาครั้งแรก ใกล้กับแม่น้ำปรือเปียต ในเขตชายแดนระหว่างเบลารุสกับยูเครน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่า “เป็นเรื่องที่เจรจาไม่ได้” เนื่องจาก “ไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย”

เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ และความกังวลของหลายฝ่าย ว่าวิกฤติการณ์สู้รบในยูเครน จากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา จะลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สามหรือไม่ ลาฟรอฟตอบว่า หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นเรื่องเลวร้ายและสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากจะมีอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้องของทุกฝ่าย

ด้วยเหตุนี้ “จึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง” หากยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เนื่องจากรัฐบาลเคียฟและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในยูเครน ยังคงมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์สมัยสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน การให้ประเทศซึ่งเป็นอดีตสมาชิกของสหภาพโซเวียตเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐและตะวันตก เป็นเรื่องที่รัฐบาลมอสโกไม่สามารถยอมรับได้

ทั้งนี้ ยูเครน “เคยมี” หัวรบนิวเคลียร์ 1,900 ลูก ขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) 176 ลูก และระเบิดนำวิถีทางยุทธศาสตร์อีก 44 ลูก แต่ภายใต้ข้อตกลงหลายฉบับ ระหว่างปี 2537-2539 ยูเครนมอบอาวุธทั้งหมดเพื่อให้รัสเซียนำไปทำลาย หลังจากนั้น ยูเครนได้รับความสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากทั้งรัสเซียและสหรัฐ พร้อมทั้งการการันตี “อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” ของยูเครน “จะไม่ถูกล่วงละเมิด” แต่ตลอดเวลาหลังรัฐประหารไมดานในเคียฟ เมื่อปี 2514 สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เมื่อรัฐบาลหุ่นที่สนับสนุนโดยสหรัฐและยุโรปก้าวขึ้นมานำประเทศ

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียกล่าวระหว่างการประชุมปลดอาวุธในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคารที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าหากสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้น มันจะเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ และจะเป็นสงครามทำลายล้าง ตามรายงานของสำนักข่าวอาร์ไอเอ,รัสเซียทูเดย์ สื่อมวลชนแดนหมีขาว

ลาฟรอฟ บอกว่ารัสเซียซึ่งเปิดฉากปฏฺิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะต้องเผชิญกับ อันตรายอย่างแท้จริงหากว่าเคียฟมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ซึ่งมอสโก ไม่สามารถยอมรับได้จึงต้องขัดขวางไม่ให้ประเทศยุโรปบางชาติถูกใช้เป็นฐานที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ พร้อมกับเตือนว่าตะวันตกต้องไม่สร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารใดๆ ในบรรดาประเทศติดรั้วบ้านรัสเซีย

ในส่วนของรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวในที่ประชุมเดียวกัน กล่าวหารัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม ผ่านการยิงระเบิดถล่มประเทศของเขา และเรียกร้องขอประชุมวาระพิเศษ เพื่อจัดการกับประเด็นการรุกรานของรัสเซียและอาวุธทำลายล้างสู

สำนักข่าวอัลอาราบิยาเปิดเผยว่า มอสโกมีคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และสะสมขีปนาวุธแบบทิ้งตัวไว้จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกองกำลังป้องปรามของประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติท่วมท้นประณามรัสเซียต่อกรณีบุกยูเครน เรียกร้องมอสโกว์หยุดสู้รบและถอนกำลังทหาร 

มติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจาก 141 ชาติสมาชิก มี 5 ประเทศโหวตคัดค้านได้แก่ รัสเซีย เบลารุส ซีเรีย เอริเทรีย และเกาหลีเหนือ ขณะที่อีก 35 ประเทศรวมถึงจีนงดออกเสียง ทั้งนี้ครั้งสุดท้ายที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอให้มีการประชุมฉุกเฉินสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ต้องย้อนกลับไปในปี 1982 เลยทีเดียว

ในขณะที่มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่มีน้ำหนักทางการเมืองในระดับโลก และผลการลงมติในวันพุธที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นตัวแทนแห่งชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ของสหรัฐและยูเครน เป็นการโดดเดี่ยวมอสโกว์ในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น