นายกฯ เปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 พร้อมกล่าวชื่นชมกระทรวงยุติธรรม และ 16 สถาบันการเงิน สร้างโอกาสลูกหนี้ให้พลิกฟื้นชีวิต ผ่านโครงการไกล่เกลี่ยหนี้สินฯ ตามประกาศนายก ฯให่ปีนี้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565”
วันที่ 25 ก.พ. 2565) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมมอบโล่รางวัลให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ 9 หน่วยงาน (กรมบังคับคดี) และมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 120 แขวง โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้สิน และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด สิ่งสำคัญคือการให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ทั้งรายได้ การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ให้เกิดความเท่าเทียมในการดำรงชีวิต
โดยทุกปัญหาต้องมองทั้งบริบทภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับการปรับตัวให้ทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้มีศักยภาพสูงขึ้นทั้ง up skill และ re skill โดยพยายามส่งเสริมการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ และมีการเตรียมความพร้อมการพัฒนาคนในประเทศควบคู่ด้วย พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ทุกคนจะต้องพัฒนาตัวเองและเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ Covid -19 ที่ทำให้การหางานมีความยากลำบากขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกันในการแก้ปัญหาประเทศ โดยไม่ทิ้งปัญหาเหล่านี้ให้ส่งผลในวันหน้า และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยเดินหน้าแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แม้จะมีความยากลำบากในหลายประการก็ตาม
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่ารัฐบาลได้กำหนดให้ “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยได้แบ่งแนวทางการดำเนินการออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่
- การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- การไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ
- การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ
- การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม รวมทั้งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้
- การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
- การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SME และ
- การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับภาวะหนี้ในปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายให้ทำงานอย่างเต็มที่และร่วมมือกันปฏิบัติตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิค – 19
สำหรับการแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลได้มีการวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยมุ่งให้ทุกครอบครัวนั้นอยู่รอด และอยู่ได้อย่างพอเพียง เน้นปฏิบัติการในเชิงปรับโครงสร้าง
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการเงิน ภาคธนาคาร เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด คือการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้ารายครัวเรือน โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจในเชิงพื้นที่เพื่อให้เห็นว่ามีความจนในมิติใดบ้าง ทั้งมิติเชิงเศรษฐกิจ มิติเชิงความรู้ มิติเชิงเทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องซับซ้อนมิอาจทำได้เพียง 1 ปี หรือ 2 ปี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความยั่งยืนไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอีก