ศักดิ์สยาม กลับลำขวางรถไฟฟ้าสีเขียว เจตนาสุดย้อนแย้งเพื่อชาติ-เพื่อใคร? วัดใจบิ๊กตู่ฝ่าเกมการเมือง ภูมิใจไทย!?

3140

สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว แต่จู่ ๆ กลับเกิดประเด็นข้อขัดแย้ง

จากการที่กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการฯ หยิบยกผลการศึกษาของกรมขนส่งทางราง ลงวันที่ 10 พ.ย. 2563 หรือ เพิ่งทำเสร็จก่อนการประชุมครม.ไม่กี่วันขึ้นมาคัดค้าน ทั้งที่การประชุม ครม. 13 ส.ค. 2563 เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ซึ่งมีอีกสถานะเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็มิได้มีท่าทีที่จะคัดค้านในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวมาแต่อย่างใด

โดยเฉพาะกับข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคม เคยเสนอผลการพิจารณาศึกษา เหตุผลและความจำเป็น เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา การขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้มีมติรับทราบ

แต่พอถึงคราวการประชุมครม. วันที่ 17 พ.ย. 2563 นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม คนเดียวกับที่เคยสนับสนุนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟ้าสีเขียวกลับแสดงท่าทีย้อนแย้ง โดยการยื่นข้อมูลคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าผ่านที่ประชุมครม. ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องถอนเรื่องกลับไปทบทวน หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนำมาเสนออีกครั้ง

ประเด็นที่ต้องไล่เรียงให้ชัดก็คือ การทำหน้าที่ของนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมจริงหรือไม่ เพราะผลกระทบหนึ่งเกิดขึ้นทันทีก็คือ กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่รัฐบาลมอบให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว เกิดปัญหาว่าจะจัดการกับหนี้คงค้างเดิมกับทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ “บีทีเอสซี” เป็นค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2561 มากถึงกว่า 8,000 ล้านบาท อย่างไร

และทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ยอมรับตรง ๆ ว่าไม่มีเงินจ่าย และโอกาสเป็นไปได้สูงว่า “บีทีเอส” ในฐานะบริษัทเอกชนจำเป็นต้องหยุดวิ่งให้บริการ เพราะไม่อาจแบกรับภาระขาดทุนแทนภาครัฐได้

ทำให้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธาน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ต้องออกมายืนยันด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า ถึงแม้จะเกิดปัญหาใด ๆ แต่บีทีเอสขอรับผิดชอบให้บริการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายต่อไป โดยไม่ทิ้งผู้โดยสารไว้ข้างหลัง จนกว่าจะมีความชัดเจนในส่วนของผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างเดินมาด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม ตามขั้นตอนทางกฎหมาย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างดีในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และโดยส่วนตัวไม่คิดที่จะเอาเปรียบรัฐ หรือ ประชาชน จึงได้พยายามแบกรับภาระการให้บริการด้วยดีมาเกือบ 2 ปี

คำถามต่อมา การประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 มีความไม่ปกติแฝงเร้นอะไรหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบ เรื่องนี้มีการประชุมหาข้อสรุปจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง มาแล้วหลายรอบ

ตามปรากฏข้อความสำคัญอยู่ในเอกสาร กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 16 พ.ย. 2563 ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการมาตามลำดับขั้นตอน และ กระทรวงคมนาคมในฐานะที่เป็นหน่วยงานนำเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ได้เห็นชอบโครงการนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม

เพียงแต่เนื่องจากในช่วงนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง จากนายปรีดี ดาวฉาย มาเป็น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องขอความเห็นจากกระทรวงการคลังอีกครั้ง ตามมติครม. วันที่ 13 ส.ค. 2563

และกระทรวงการคลังยังคงยืนยันให้ความเห็นชอบตามเดิมจากที่ทุกหน่วยงานเคยลงมติรับทราบ ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนฯในโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวมาก่อนหน้า โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ร่วมให้ความเห็นตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2563 และ ที่ประชุมครม. วันที่ 13 ส.ค. 2563 เคยรับทราบผลการพิจารณา ตามรายงานสรุปของกระทรวงมหาดไทยไปแล้วด้วย

ถ้าไล่เรียงไทม์ไลน์ชัด ๆ แบบนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าโครงการขยายสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ได้ผ่านความเห็นชอบของทุกหน่วยงานแล้ว จึงมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขอมติที่ประชุมครม.เพื่ออนุมัติในวันที่ 17 พ.ย. 2563

แต่กลายเป็นว่ากระทรวงคมนาคมโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กลับทำสิ่งย้อนแย้ง ด้วยการนำผลการศึกษาของกรมขนส่งทางรางที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 ขึ้นมาคัดค้าน โดยไม่สนใจแนวทางเดิมจากการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม

จึงเป็นคำถามว่าทำไมก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรมว.คมนาคม จึงไม่นำประเด็นความเห็นต่าง ๆ เหล่านี้เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสำคัญ ๆ อย่างกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปก่อนหน้า แต่รอจนถึงวันที่ครม.ควรได้พิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการ ถึงออกมาคัดค้าน ในขณะที่แผนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมส่วนต่อขยายระยะทาง 68.25 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการครบทั้ง 59 สถานี อย่างเป็นทางการ มีกำหนดเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 นี้แล้ว

อะไรเป็นตัวแปรทำให้หลักคิดของนายศักดิ์สยาม พลิกเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้ามองแบบการเมืองงานนี้ปฏิเสธให้เกิดข้อสงสัยไม่ได้ว่าเบื้องหลังที่เกิดขึ้นมีผลประโยชน์อื่นใดเข้ามาสอดแทรกหรือไม่ หรือ มีปมขัดแย้งอื่น ๆ ที่ทำให้กระทรวงคมนาคม และ พรรคภูมิใจไทย เปลี่ยนจุดยืนในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม เนื่องจาก “บีทีเอส” เพิ่งมีปัญหากับกระทรวงคมนาคม ถึงขั้นต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอความเป็นธรรม จากการที่มีความพยายามแก้ไขเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม จนถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปเพื่อเอื้อให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM หรือไม่

ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชน เพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ด้วยเห็นว่าเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งหลายทั้งปวง จึงต้องจับตาว่าท้ายสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจประเด็นนี้อย่างไร เพราะรับรู้ รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่าผลสรุปร่วมของทุกหน่วยงานต่างให้ความเห็นชอบ สนับสนุนแผนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว หรือ แผนอนุมัติขยายสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสมาโดยตลอด

ทั้งการประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอวาระแจ้งครม.เพื่อทราบ เรื่องผลการศึกษาเรื่องการพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎรด้วยตัวเอง

รวมถึงในคราวการประชุมครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหารือในประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้ง จนเป็นที่มาหนังสือด่วนกระทรวงการคลัง ที่ กค 0820.1/20037 ในการยืนยันความเห็นชอบ ก็ปรากฏข้อความสำคัญว่า กระทรวงการคลังให้ความเห็นตามเดิม เหมือนที่กระทรวงคมนาคมเคยเสนอผลการพิจารณารายงานผลการศึกษาฯ ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0202/192 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ให้ที่ประชุมครม.รับทราบไปแล้ว

เพียงแต่นาทีนี้กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการฯ เลือกทำในสิ่งย้อนแย้งจากหลักการเดิม ที่ให้ความเห็นก่อนหน้า ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กำลังมีความพยายามเดินเกมส์ใต้ดิน โดยการนำกลไกทางการเมือง เข้าขัดขวางแผนการลงทุนของบริษัทเอกชน อย่าง “บีทีเอส” ในทุกรูปแบบ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบใด ๆ แม้กระทั่งความเชื่อมั่นนักลงทุน และ ความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าคสช. ในประกาศแนวนโยบายเรื่องการเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อคุณภาพชีวิตคนกรุงให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น