สถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา “มินอ่องหล่าย” ส่งเทียบเชิญกองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มก่อการร้าย ให้ส่งตัวแทนไปร่วมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี และร่วมประชุมเพื่อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพ และในงานนี้ปรากฎว่า 11 กองทัพติดอาวุธชาติพันธุ์ได้ส่งตัวแทนเข้าชมการสวนสนามคึกคัก ที่เนปิดอทั้ง กองทัพอาระกัน สหรัฐว้า รัฐชานเหนือ เมืองลา ที่ยังไม่เซ็น NCA ไปร่วมอยู่ด้วย ในขณะเดียวกันก็ประกาศปลดปล่อยนักโทษการเมือง 841 คนซึ่งในกลุ่มนี้ไม่มีที่ปรึกษาของอองซาน ซูจีแต่อย่างใด
วันที่ 12 ก.พ.2565 เป็นวันสถาปนาสหภาพเมียนมา ครบรอบ 75 ปี สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองขึ้นที่กรุงเนปิดอ มีการสวนสนามของกองทัพพม่า การแสดงจากตัวแทนชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งภาคกลางวันและกลางคืน
ในพิธีเฉลิมฉลองซึ่งจัดขึ้นต่อหน้า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC ผู้นำเหล่าทัพ และผู้บริหารประเทศอีกหลายคนนั้น มีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 11 กลุ่ม ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วย โดยเป็นกองกำลังที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าแล้ว 7 กลุ่ม อีก 4 กลุ่ม เป็นตัวแทนจากกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็น NCA ทั้งนี้ไม่ได้เชิญกลุ่มก่อการร้ายที่รัฐบาลกลางระบุ ซึ่งได้แก่ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) คณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาพม่า (CRPH) และกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้าน (PDF)
ตัวแทน 7 กองกำลังที่เซ็น NCA แล้ว ประกอบด้วย
– สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) หรือกองทัพรัฐชานใต้
– สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
– สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
– กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
– พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
– พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
– สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)
ขณะที่อีก 4 ตัวแทนจากกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็น NCA ได้แก่
– กองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
– กองทัพอาระกันและสหสันนิบาตแห่งอาระกัน (AA/ULA)
– กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP) หรือกองทัพรัฐชานเหนือ
– กองทัพเมืองลา (NDAA)
ส่วน 3 กองกำลังชาติที่เซ็น NCA แล้ว แต่ไม่ส่งตัวแทนมาร่วมด้วย มี
– องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
– แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
– แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
3 กองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็น NCA และเป็นสมาชิกของ FPNCC (Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee) ที่ไม่ส่งตัวแทนมาร่วม มี
– กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)
– กองทัพโกก้าง (MNDAA)
– กองทัพตะอั้ง (TNLA)
ทั้ง 3 กองกำลังข้างต้นกำลังต่อสู้อย่างรุนแรงกับกองทัพพม่า อยู่ในหลายพื้นที่ในคะฉิ่น และภาคเหนือของรัฐชาน
นอกจากเข้าร่วมชมพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพแล้ว SAC ยังได้เตรียมการประชุมร่วมกับตัวแทนกองกำลังที่มาร่วมงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นมาใหม่ หลังต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 1 ปี
ด้านสหรัฐอเมริการมว.กต.สหรัฐฯ บุกเอเชียแปซิฟิก เยือนเมลเบิร์น ออสเตรเลียเพื่อจัดประชุมกลุ่มพันธมิตรควอด(QUAD) ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ประเด็นนี้สนข.Reuters รายงานอ้างถ้อยแถลงของนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.กต.สหรัฐฯ ที่แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมาระหว่างการเยือนออสเตรเลีย เพื่อร่วมการประชุม รมว.การต่างประเทศกลุ่ม QUAD เมื่อ 11 ก.พ.2565 ว่า สหรัฐฯ วิตกกับกรณีรัฐบาลเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้มาตรการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
พร้อมย้ำว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในอนาคตอันใกล้เพื่อหารือกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนให้ เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
แม้สหรัฐฯจะพยายามผลักดันมติคืบหน้าทางด้านการทหารต่อ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ลงโทษเมียนมาอย่างหนัก และเสนอให้คณะมนตรีฯมีมติแทรกแซงทางทหารแก่รัฐบาลเมียนมา แต่ถูกขัดขวางจากรัสเซียและจีน
ขณะที่สื่อตะวันตก และสื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาเร่งโหมกระพือภาพความโหดร้ายที่กองทัพพม่าปราบปรามกลุ่มกบฎ โดยละเว้นภาคความรุนแรงที่ฝ่ายต่อต้านกระทำต่อนักธุรกิจ คนพม่าที่สนับสนุนรัฐบาลและเห็นต่างจากกลุ่มต้าน
สงครามไม่เคยปราณี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยใครเป็นผู้ก่อและด้วยเหตุผลใดก็ตามย่อมนำมาซึ่งการเสียเลือดเนื้อทั้งสองฝ่าย และความทุกข์ยากลำบากของประชาชน การจัดงานฉลองวันสหภาพของรัฐบาลเมียนมาเหมือนเป็นงานการเมืองที่ต้องการตอกย้ำว่า ทางการรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบัน จะไม่ยอมถอยให้กับสงครามพันทางที่สหรัฐและตะวันตกหนุนหลัง จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การเข้าร่วมสวนสนามของกองกำลังชาติพันธ์ุ 11 กลุ่มส่งสัญญาณท่าทีนี้ต่อสหรัฐอย่างจริงจัง