ยกแรก “ก๊วนธรรมนัส” โล่ง! กกต.ไม่รับคำร้องสอบมติพปชร.ขับ21ส.ส. ลุ้นคดีพี่ศรีฯร้องต่อ

1120

ยกแรก “ก๊วนธรรมนัส” โล่ง! กกต.ไม่รับคำร้องสอบมติพปชร.ขับ21ส.ส. ลุ้นคดีพี่ศรีฯร้องต่อ

จากกรณีที่วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่จะพิจารณากรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือขอให้กกต.ตรวจสอบมติพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขับ 21 ส.ส.ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

รวมถึง กรณีที่นายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. พร้อมพวกรวมกว่า 100 คน ยื่นคำร้องตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 อ้างว่า มติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.พปชร.รวม 21 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ หากกกต.เห็นว่าการดำเนินการมีมติขับดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมาย และข้อบังคับกำหนด ก็จะมีมติรับทราบตามกระบวนการ โดยจะมีการแจ้งหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 3 วัน เพื่อให้ทันครบกำหนดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้

แต่หากพบว่า มติขับดังกล่าวเป็นไม่ไปตามที่กฎหมาย และไม่เป็นไปตามข้อบังคับกำหนด ทาง กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนมติของพรรคพปชร.ได้ เท่ากับว่าทั้ง 21 ส.ส.ยังคงเป็นสมาชิกพรรคพปชร.

ส่วนการไปสังกัดเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเรื่องของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่งผลให้ความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงได้ เนื่องจากส.ส. 1 คน เป็นสมาชิกพรรคได้เพียง 1 พรรคเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอีกว่า หากที่ประชุมกกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ไม่สามารถตัดสินได้เลย อาจมีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาตรวจสอบและขอข้อมูลก่อนที่จะพิจารณาอีกครั้งก็ได้

ต่อมามีรายงานว่า วาระการประชุม ของ กรรมการ กกต. วันนี้ ไม่มีเรื่องนี้ เข้าสู่ที่ประชุม เนื่องจาก สำนักงาน กกต. มีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เพราะการเข้าชื่อคำร้อง ต่อ กกต. ไม่เข้าเงื่อนไข ตามกฎหมาย พรรคการเมือง มาตรา 42 ที่จะต้อง เป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกกว่า 100 คน จึงจะสามารถร้องเพิกถอนมติของพรรคได้ แต่จากการตรวจสอบรายชื่อตามคำร้อง มีสมาชิกพรรคจริงๆไม่ถึง 100 คน จึงไม่เป็นเหตุที่ กกต. ต้องพิจารณาเพิกถอนมติพรรค

ในขณะที่ทางด้าน นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างตัวเป็นสมาชิกพรรคประชารัฐ และเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาว่ามติขับ 21 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ชะลอการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว เนื่องจากได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีก 11 ประเด็น จึงต้องการให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

โดยนายสนธิญา กล่าวว่า หลังจากที่นายสมัยพร้อมกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 155 คน ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ต่อมามีกระแสข่าวว่า กกต.ตรวจสอบแล้วจำนวนผู้ยื่นคำร้องแล้วพบว่าในจำนวนดังกล่าวมีชื่อเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพียง 99 คน อีก 56 คน ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนั้น วันนี้นายสุรเดช กองรัตน์ ประธานสาขาพรรคพลังประชารัฐ จ.ปทุมธานี และเป็นผู้รวบรวมรายชื่อทั้งหมดจึงต้องการมาตรวจสอบว่าเหตุใด กกต.จึงบอกว่า 56 คน ไม่มีชื่อเป็นสมาชิกพรรคทั้งที่คนเหล่านี้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 โดยทั้ง 155 คนเป็นสมาชิกที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรค

“สมาชิกพรรคที่ยื่นตรวจสอบลำดับที่ 100 – 155 จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐได้อย่างไร ในเมื่อคนเหล่านี้ มีชื่ออยู่ในลำดับสมาชิกที่ 51, 52 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 500 ผู้ก่อตั้งพรรค จึงต้องมาร้อง กกต.ขอให้ชะลอการพิจารณาคำร้องของนายสมัย เพื่อให้ตรวจสอบจำนวนสมาชิกใหม่ทั้ง 155 คน ให้ถูกต้องก่อนว่าเหตุใดบางคนเป็นสมาชิก แต่อีกคนซึ่งมีเลขสมาชิกใกล้กัน แต่กลับไม่มีชื่อเป็นสมาชิก เพราะถ้า กกต.พิจารณาเลยก็อาจทำให้คำร้องนี้ตกไป เพราะ กกต.จะถือว่าสมาชิกที่ยื่นประกอบคำร้องไม่ถึง 100 คน”

ด้านนายสุรเดช กล่าวยืนยันว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 พื้นที่จ.ปทุมธานี พรรคพลังประชารัฐก็มีการส่งผู้สมัคร โดยสมาชิกทั้ง 56 คน ที่วันนี้ กกต.บอกว่าไม่มีชื่อเป็นสมาชิก ล้วนเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 100 คน ที่ทำให้พรรคตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ และทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครซึ่งนายสมัย ก็เป็นหนึ่งในผู้สมัครส.ส.โดยได้คะแนนมาถึง 2 หมื่นกว่าคะแนน ดังนั้น จึงเป็นไปไมได้ที่จะบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือถ้า กกต.จะบอกว่ามีการลาออกของสมาชิก ถ้าลาออกจริง กกต.ประจำจังหวัดก็ต้องมีการแจ้งให้ตนเองทราบ แต่ล่าสุดตนยังได้รับการยืนยันจาก กกต.จังหวัดว่า ตนยังเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นคำร้องของนายสมัย ขอให้ กกต.ตรวจสอบมติขับ 21 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 42 ที่กำหนดว่าในกรณีสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส.คนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนี้หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องต่อ กกต.เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และถ้า กกต.วินิจฉัยว่ามติใดของพรรคการเมืองขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนี้หรือกฎหมายอื่น ให้กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้

โดยทางนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า

” รายงานข่าวมาว่า วันนี้ การประชุม กกต. ไม่การนำวาระพิจารณามติพรรคพลังประชารัฐ เข้าสู่ที่ประชุม กกต.นะครับ
จริง ๆ ก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะเรื่องดูความถูกต้องของมติพรรค เป็นหน้าที่ของเลขาธิการในฐานะ นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ต้องถึงที่ประชุม กกต. แต่อาการปอด อาจเกิดขึ้นในฝ่ายสำนักงาน เลยชงเข้าที่ประชุม กกต.

หากเป็นตามนี้ ที่ปรึกษา กกต.ก็ไม่ธรรมดา รู้จักแนะให้เตะออก ส่วนเผือกร้อนจะไปอยู่ที่ใคร ก็เป็นอีกเรื่อง
ยินดีกับพรรคเศรษฐกิจไทยที่ได้ ส.ส.เพิ่มอีก 18 คน ส่วนอีก 3 คนที่เหลือ รีบหาพรรคก่อน 18 กุมภาพันธ์ 2565 อย่ามัวฉลองวาเลนไทน์

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ร้องในกรณีเดียวกัน และยังไม่มีความชัดเจนจาก กกต. ว่าจะพิจารณาคำร้องของนายศรีสุวรรณ หรือไม่

ทั้งนี้ในวันที่ 18 ก.พ. นี้ จะครบกำหนด 30 วัน ที่ 21 ส.ส. ซึ่งถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ จะต้องสมัครสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ โดยขณะนี้ มี18 คน ที่สมัคร เป็นสมาชิกและทำหน้าที่ เป็น ส.ส. ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย แล้ว ส่วนอีก 3 ส.ส. ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก กกต. ว่าจะเพิกถอนมติพรรคพลังประชารัฐหรือไม่