3 ผู้นำยุโรปเทเมกาฯ!!เยอรมนี-ฝรั่งเศส-โปแลนด์ประกาศดันสันติภาพร่วมรัสเซีย ขณะยูเครนขอขีปนาวุธสหรัฐเพิ่ม

984

สถานการณ์ล่าสุดกรณีวิกฤตยูเครนนั้น บรรดาผู้นำยุโรป 3 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรป ขณะที่ “มาครง” ย้ำเห็นช่องทางในการผ่อนคลายความตึงเครียดกรณีรัสเซีย-ยูเครน แต่ล่าสุดมอสโกว์ออกมาเตือนว่า ยูเครนกำลังยั่วยุด้วยการร้องขอระบบป้องกันขีปนาวุธ “ธาดด” จากอเมริกา และเมื่อสหรัฐสนับสนุนก็อาจบ่อนทำลายโอกาสในการแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต เพราะเท่ากับสหรัฐยังเดินหน้าคุกคามไม่หยุด

วันที่ 9 ก.พ.2565 สำนักข่าวสปุ๊ตนิกและเอเอฟพีรายงานว่า หลังจากที่ปธน.เอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เยือนมอสโกและต่อด้วยการไปกรุงเคียฟ ต่อด้วยการเดินทางถึงกรุงเบอร์ลินแล้วในวันอังคารที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้พบเจรจากับผู้นำเยอรมนีและโปแลนด์พร้อมกัน

ผู้นำฝรั่งเศสเรียกร้องให้เจรจากับรัสเซียอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง เพราะเป็นวิธีเดียวในการผ่อนคลายความกังวลของฝ่ายตะวันตกว่ารัสเซียอาจบุกยูเครนตามคำชี้นำของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ มาครงได้หารือกับปธน.วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ราว 5 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (7) เสริมว่า ผู้นำแดนหมีขาวยืนยันว่า รัสเซียจะไม่เป็นต้นเหตุให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลาย แม้ขณะนี้สะสมอาวุธและกำลังพลกว่า 100,000 นายใกล้ชายแดนยูเครนก็ตามเพราะอยู่ในดินแดนของรัสเซีย เพื่อตอบสนองการเพิ่มกำลังทหารและขีปนาวุธของนาโตรอบรัสเซีย

ทั้งนี้ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสหลายคนคิดว่า วอชิงตันกระพือข่าวการคุกคามของรัสเซียมากเกินไป ขณะที่ยูเครนเองยังเชื่อว่า มีแนวโน้มต่ำที่มอสโกจะเปิดฉากบุกเต็มรูปแบบในเร็วๆนี้

มาครงสำทับว่า ทั้งปูตินและประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครนต่างยืนยันว่า ยังยึดมั่นในหลักการข้อตกลงสันติภาพปี 2014 หรือที่เรียกกันว่า “ข้อตกลงกรุงมินสก์” ซึ่งปูทางสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทที่ยืดเยื้อในยูเครนตะวันออก

ในการแถลงข่าวร่วมกันภายหลังการหารือที่เบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ประกาศว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส และโปแลนด์มีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาสันติภาพในยุโรปผ่านแนวทางการทูตและการเจรจาที่ชัดเจน

ส่วนประธานาธิบดีอันเดรจ์ ดูดา ของโปแลนด์ แสดงความเชื่อมั่นว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม และสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือความเป็นความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสมานฉันท์กัน นอกจากนี้ผู้นำทั้งสามยังประกาศสนับสนุนอธิปไตยของยูเครน

สำหรับความสนใจต่อจากนี้ไปจะมุ่งไปที่การเจรจาหลายนัดของพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเบอร์ลินในวันพฤหัสฯที่ 10 ก.พ.2565 ซึ่งปธน.เซเลนสกี้บอกว่าอาจนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างยูเครน รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพื่อฟื้นแผนการสันติภาพในยูเครนตะวันออกที่ชะงักงันอยู่

เวลานี้พวกผู้นำยุโรปจะต้องพยายามโน้มน้าวให้เซเลนสกี้ยอมรับแนวทางประนีประนอม โดยที่เคียฟนั้นระบุเงื่อนไข 3 ข้อคือ ต้องไม่มีการประนีประนอมเกี่ยวกับบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน, ไม่มีการเจรจาโดยตรงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากมอสโกว์ ,และไม่มีการแทรกแซงนโยบายต่างประเทศของยูเครน

ด้านสำนักข่าวสปุ๊ตนิกของทางการรัสเซียรายงานว่า รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เซียร์เก เรียบคอฟ เปิดเผยว่า เคียฟร้องขอระบบต่อสู้ขีปนาวุธ “ธ้าด” (THAAD ย่อมาจากTerminal High Altitude Area Defense) จากอเมริกาถือเป็นการยั่วยุ และหากวอชิงตันพิจารณาคำขอนั้นอย่างจริงจังก็อาจลดโอกาสในการแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต

ระบบธ้าดนี้ สหรัฐฯออกแบบมาเพื่อใช้สกัดกั้นพวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ขณะถูกยิงขึ้นไปจนออกนอกชั้นบรรยากาศของโลก (เรียกกันว่า ขีปนาวุธเคลื่อนที่ไปถึงระยะ terminal) ก่อนจะตกลงมาสู่เป้าหมายที่จะโจมตีบนผิวโลก พิสัยการปฏิบัติการของระบบนี้โดยรวมอยู่ที่ 200 กิโลเมตร และมีศักยภาพในการค้นหาและติดตามขีปนาวุธในพิสัยระหว่าง 870 ถึง 3,000 กิโลเมตร

สปุ๊ตนิกยังอ้างรายงานของสำนักข่าวทาซซ์ ซึ่งเป็นทางการรัสเซียเช่นกัน ที่ระบุมีข้อมูลจากแหล่งข่าวของตนบอกว่า ยูเครนได้ขอสหรัฐฯนำชุดเครื่องยิงระบบธ้าด พร้อมเรดาร์จำนวนหลายชุดมาประจำการใกล้ๆ เมืองคาร์คอฟ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เรดาร์ AN/TPY-2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบธ้าด จะมีศักยภาพที่จะติดตามสอดส่องน่านฟ้าเหนือดินแดนรัสเซียเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง และทำให้เคียฟตลอดจนพันธมิตรนาโต้ของยูเครน สามารถสอดส่องลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียเป็นระยะทางถึง 1,000 กิโลเมตรทีเดียว

ดูภาพรวมแล้ว ความพยายามวิ่งรอกเจรจาเพื่อถอดชนวนสงครามไม่ให้ปะทุในยุโรปของมาครง จะเป็นผลเฉพาะฝ่ายยุโรปที่รู้แล้วว่า จะเป็นผู้เสียหายมากที่สุด แต่อาจไม่ประสบผลในฝั่งยูเครน เพราะฝ่ายยูเครนแสดงท่าทีทางการทูตเป็นบวกพร้อมเจรจาฟื้นฟูสัญญาสันติภาพมินส์  แต่การดำเนินการทางทหารยังดุดันพึ่งพาสหรัฐมากที่สุด สะท้อนความทะเยอทะยานของฝ่ายยูเครนที่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐในการก่อสงคราม ทำให้สันติภาพในยุโรปยังไม่อาจวางใจได้ เพราะแกนหลักสำคัญชี้ขาดว่าจะมีสงครามหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัสเซีย??