จับตา!!วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนโอกาสส่งออกไทย ดันสินค้าอุตฯพุ่ง 80%

1290

ท่ามกลางความข้ดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐ-นาโตในกรณีวิกฤตยูเครน ไทยยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะ รัสเซียถือเป็นตลาดส่งออกที่ศักยภาพสูงของประเทศไทย โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกไปมากถึง 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.68%

สำหรับปี 2565 สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในหลายมิติ ที่เห็นชัดคือกรณีราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นเหนือ 93 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขยับเข้าใกล้ 100 เหรียญสหรัฐมากขึ้นทุกที

วันที่ 21 ก.พ.2565 นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดเผยสถานการณ์การค้าต่างประเทศของรัสเซียในหลากหลายแง่มุม ดังนี้

เศรษฐกิจของรัสเซียปี 2565 มีการคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจรัสเซียปี 2565 ไว้ว่าจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว 4.6% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น และความต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้น  แต่สิ่งที่รัสเซียกังวลมากที่สุดคงเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยปี 2564 อยู่ที่ 8.4% สูงสุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าในรัสเซียสูงขึ้น ปี 2565 จึงมีเป้าหมายที่จะหามาตรการเข้ามาดูแลควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกินไป โดยมีมาตรการห้ามส่งออกสินค้าบางชนิด และมีมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในครึ่งปีแรกให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 6% ทั้งปีอยู่ที่ 4%

ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนโดยมีสหรัฐและนาโตมาเกี่ยวข้อง  จากการประเมินเบื้องต้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรง โดยรัสเซียยังคงตรึงกำลังบริเวณชายแดนไม่ได้มีการโจมตีหรือตอบโต้ใด ๆ  ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศยังเป็นปกติ ประเมินแล้วอาจเป็นสงครามทางเศรษฐกิจมากกว่า หากฝ่ายใดมีมาตรการออกมาอย่างชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยกับรัสเซีย

จากการติดตามรายงานของสื่อตะวันตกเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2565 มีการรายงานถึงการเตรียมการของฝ่ายสหรัฐและสหภาพยุโรปในการกดดันรัสเซีย หากเปิดศึกกับยูเครนด้วยการยกระดับความรุนแรงของมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และบุคคลต่อรัสเซียออกมาเป็นระยะ ๆ พบว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่กำลังพิจารณา มีตั้งแต่การตัดการเชื่อมต่อระบบ SWIFT ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้หลายประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วยเพราะผลกระทบย้อนกลับไปยังเศรษฐกิจของยุโรปเอง ยกเว้นอังกฤษที่แสดงท่าทีเห็นชอบ

และการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิลเป็นเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร ตลอดจนการควบคุมไม่ให้นานาชาติส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังรัสเซีย เช่น โทรศัพท์มือถือ อากาศยานชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และวัตถุดิบอุตสาหกรรมไปยังรัสเซีย รวมถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตรรายบุคคลกับผู้นำประเทศ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจ เป็นต้น

กรณีการควบคุมการส่งออกอาวุธและพลังงานเพื่อตัดรายได้สำคัญของรัสเซีย ประเมินมูลค่าเบื้องต้นประมาณ  5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น สหรัฐสั่งเยอรมนีคว่ำบาตรท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ของรัสเซียและรับประกันจะหาแหล่งพลังงานป้อนให้ใหม่  เยอรมยนีประกาศยอมรับแต่มีเงื่อนไขว่า รัสเซียบุกยูเครน ซึ่งถ้าในความเป็นจริง รัสเซียไม่ได้ส่งกองทัพบุกไปยังยูเครน การคว่ำบาตรอาจไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้มาตรการคว่ำบาตรท่อก๊าซยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส เพราะเกรงส่งผลกับสหรัฐด้วย

ขณะนี้สถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าทั่วไปยังเป็นปกติ  แต่เมื่อใดที่ฝ่ายตะวันตกตัดสินใจยกระดับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย โดยเฉพาะมาตรการที่มุ่งจำกัดขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศและการเงินระหว่างประเทศ หากไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายตะวันตก ย่อมกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การส่งออกของไทยไปยังรัสเซียในปี 2565นี้  คาดว่าจะเติบโต 7-8% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรัสเซีย ความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ขยายตัว 41.68% มีมูลค่า 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมครองส่วนแบ่งการส่งออกจากไทยกว่า 80% ประกอบด้วย สินค้า กลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเป็นสินค้าหลัก สัดส่วน 31.26% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปรัสเซีย

รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง 10.37% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 5.26% เม็ดพลาสติก 4.22% เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ 4.14% อัญมณีและเครื่องประดับ 2.14% เป็นต้น

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีสัดส่วนส่งออกรวม 9.98% สินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป 4.49% อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป 1.90%

กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มีสัดส่วน 6.90% มียางพารา 3.21% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 0.85% ข้าว 0.35% เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย เช่น น้ำมันดิบ ปุ๋ย และแร่โลหะ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียอย่างเต็มที่ เป้าหมายที่จะจัดคือ ไทยแลนด์เฟสติวัล เพื่อนำสินค้าไทยมาจัดบูทแสดงสินค้ากลางแจ้งในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนของรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังต้องการผลักดันสินค้าไทยขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม OZON ซึ่งเป็นที่นิยมในการช็อปออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคสนใจซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ตั้งแต่โควิด-19 และกฎหมายเปิดช่องการสั่งซื้อสินค้าข้ามพรมแดนได้ โดยสินค้าที่ราคาไม่เกิน 200 ยูโร ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและน้ำหนักไม่เกินที่กำหนด จึงเป็นช่องทางที่ผู้ส่งออกไทยจะนำสินค้าขึ้นไปบนแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายให้คนรัสเซียได้

สินค้าจำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วย เช่น สมุนไพร สินค้าด้านสุขภาพ ยาหม่อง ยาดม ให้คำนึงว่าหากสินค้าแฟชั่นทั่วไป สินค้าที่ใกล้เคียงของจีนอย่างเสื้อผ้า อาจสู้จีนไม่ได้เพราะรัสเซียนำเข้าจากจีนและราคาถูกกว่า ส่วนกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ก็ยังทำต่อเนื่อง

โอกาสของการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดรัสเซียยังมีอีกมาก แต่การทำตลาดยังลำบากเนื่องจากการสื่อสารทางภาษาเป็นอุปสรรค ส่วนปัญหาการนำเข้าที่กังวลจากสถานการณ์ความขัดแย้งเชื่อว่ากระทบน้อย แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ประมาท