จากที่วัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ทำให้เกิดกระแสตั้งคำถามถึงอดีตนายกฯที่หลบหนีคดีไว้อย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้เนื้อหาที่ นายวัฒนา โพสต์ไว้มีข้อความสำคัญระบุว่า “ผมได้รับความกรุณาจากองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ไปแถลงการณ์ด้วยวาจาในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.30 นาฬิกา ตามหมายท้ายโพสต์นี้
เดิมผมเคยชักชวนให้ท่านที่สนใจไปฟังผมแถลงการณ์ที่ศาลฎีกา แต่ผมเพิ่งทราบจากทนายว่าหากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความจะไปรับฟังการแถลงการณ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนซึ่งผมคงไม่อาจระบุชื่อทุกท่านที่ประสงค์จะไปรับฟังได้
ผมจะสรุปรายละเอียดของคดีที่ผมจะไปแถลงต่อศาลให้ทุกท่านได้ทราบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เมื่อได้ฟังอย่างครบถ้วนแล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านจะเข้าใจว่าเหตุใด ผมจึงยังยืนหยัดต่อสู้คดีโดยไม่เคยคิดจะหลบหนี ทั้งที่มีแต่คนแนะนำให้ผมหลบไปตั้งหลักก่อน เพราะหากผมหลบหนีก็จะเป็นการช่วยให้การปั้นน้ำเป็นตัวทั้งหลายที่ คตส. ทำมาทั้งหมดกลายเป็นเรื่องจริง”
ต่อมานายวัฒนา ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจว่า “กราบเรียนพี่น้องประชาชน หลายท่านคงแปลกใจว่าทำไมผมจึงยังไม่หนีไปไหนหลังการยื่นอุทธรณ์คดีบ้านเอื้ออาทร ขอแจ้งกำหนดการให้ทราบว่าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผมจะแถลงปิดคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และจะไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคม 2565
คดีนี้เป็นคดีที่ 12 ที่ผมได้มาทั้งหมดหลังการรัฐประหารปี 2549 และการรัฐประหารปี 2557 ในขณะที่คดีอื่นๆ ยกฟ้องไปหมดแล้ว นี่คือคดีสุดท้ายที่มิได้มีความซับซ้อนอะไรแต่กลับใช้เวลากว่า 12 ปีในการพิจารณา หากท่านได้รับฟังพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดด้วยความใส่ใจก็จะทราบว่าเพราะเหตุใดผมจึงไม่เคยคิดหนี และจะเป็นคนแรกที่ไปถึงศาลในวันนัดอ่านคำพิพากษา หลังจากที่ต้องอดทนต่อการถูกตัดสินโดยศาลเตี้ยในสังคมมายาวนานนับแต่วันแรกที่มีข่าวคดีนี้บนหน้าสื่อ
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ศาลกำหนดให้ส่งรายชื่อผู้ร่วมรับฟังการแถลงปิดคดีในห้องพิจารณาที่จำกัดที่นั่งล่วงหน้า ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารประเด็นสำคัญในคดีต่อพี่น้องประชาชนครับ
“ข้อเท็จจริงคดีบ้านเอื้ออาทร”
นายวัฒนา เมืองสุข (จำเลยที่ 1) ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจรัฐมนตรีโดยมิชอบออกประกาศรับซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นช่องทางเรียกรับประโยชน์จากผู้ประกอบการ ทำให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เสียหายต้องรับซื้อโครงการในราคาที่แพงขึ้น
จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการและเรียกค่าตอบแทนการอนุมัติหน่วยก่อสร้างต่อหน้าที่ประชุมหน่วยละ 11,000 บาท ใครไม่ตกลงจะไม่อนุมัติหน่วยก่อสร้างให้เว้นแต่จะมีหน่วยเหลือจึงจะนำมาจัดสรรให้ในภายหลัง ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จที่เกิดจากจินตภาพของประธานอนุกรรมการไต่สวนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่พยานได้ให้การในชั้นศาล โดยแบ่งรายละเอียดสำคัญออกเป็น 7 ประเด็น
(อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/)
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรเสร็จสิ้น โดยสั่งให้จำคุกนายวัฒนา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี พร้อมจำคุกเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ปรับจำเลยที่ 8 2 แสนกว่าบาท และจำคุกนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14
โดยคดีนี้ ในส่วนของนายวัฒนา ได้อุทธรณ์คดี ในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 มีนาคม 2565
ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวรยางานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินให้ลงโทษจำคุก 2 ปี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ดินรัชดาฯ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและน้องสาวนายทักษิณ ก็ได้ถูก ศาลฏีกาฯ พิพากษา จำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทั้งคู่ได้หลบหนีออกนอกประเทศไทย