รัฐบาลตรวจสต็อกหมูถี่ยิบ!?หาตัวการทำหมูแพง ตอกย้ำเกษตรพันธะสัญญากดราคาคนเลี้ยง กักตุนขายแพง

1053

ราคาหมูแพงกระแทกให้สินค้าอื่นๆพากันพาเหรดขึ้นราคา ผู้บริโภคต้องควักจ่ายเพิ่ม ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูก็ยังถูกกดราคารับซื้อหน้าฟาร์มเช่นเดิม กำไรส่วนต่างมโหฬารจากต้นทางสู่ปลายทางมีพ่อค้าใหญ่ ไอ้โม่งที่ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ ใช่หรือไม่ ปริศนานี้ “นายกฯลุง” กับคณะรัฐบาลจะมีปัญญาแก้โจทย์ และดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนได้สักกี่มากน้อย ภายใต้ระบบทุนนิยาผูกขาดที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ยากถอดถอน คงต้องติดตามกันต่อไป 

ล่าสุดหลังอมพะนำทำเฉย ยามเกิดวิกฤตหมูแพง รมว.เกษตรและสหกรณ์รับคำบัญชาจากนายกฯไล่ตรวจสต๊อกหมูเข้ม  13.41 ล้านกก. หลังลงพื้นที่ตรวจเข้มห้องเย็น 539 แห่ง  พบมีหมูในระบบ 10.84 ล้านตัว แม่พันธุ์ 9.79 แสนตัว สุกรขุน 9.56 ล้านตัว ยันเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

วันที่ 24 ม.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามตรวจสอบปริมาณสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเจ้าหน้าที่พาณิชย์ ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 23 ม.ค. กรมปศุสัตว์รายงานว่า

ได้มีการดำเนินการทั้งหมดไปแล้ว 539 แห่ง (ตัวเลขสะสมนับตั้งแต่วันที่ 20-23 ม.ค.) พบเนื้อสุกรรวม 13.41 ล้านกิโลกรัม และทางกรมฯจะเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่มีสินค้าปศุสัตว์ที่เหลือให้ครบ ซึ่งจะมีอีกประมาณ500กว่าแห่ง หากตรวจสอบโดยละเอียดพบมีการกักตุน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และเนื้อสุกรจะถูกสั่งให้จำหน่ายตามราคาที่ทางการกำหนดต่อไป

สำหรับข้อมูลการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ณ เดือน ม.ค. 2565 กรมปศุสัตว์รายงาน มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1.07 แสนราย จำนวนสุกร 10.84 ล้านตัว แบ่งเป็น สุกรพ่อพันธุ์ 4.9 หมื่นตัว สุกรแม่พันธุ์ 9.79 แสนตัว และสุกรขุน 9.56 ล้านตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า จำนวนสุกรทั้งหมดลดลงร้อยละ 11.81 แยกเป็น สุกรพ่อพันธุ์ลดลงร้อยละ 41.1 สุกรแม่พันธ์ุลดลงร้อยละ 11.16 จำนวนสุกรขุนลดลง ร้อยละ 13.9

และในปีนี้ มีการขยายการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ใหม่ ส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงลดลง ฟาร์มขนาดกลางมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นและขยายการเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์มควบคู่ไปกับการป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร รัฐบาลยังเร่งดำเนินการหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง ซึ่งประกอบด้วยมาตการหลายระยะ ได้แก่

1) งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลาสามเดือน 2) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร 3) สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ เรื่องเตรียมเข้า ครม. 4) ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน

5) เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน 6) ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7) เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด 8) ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด 9) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าไปตรวจสต๊อกเนื้อสุกร หากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด กรณีที่ตรวจพบว่า มีการรายงานตัวเลขการครอบครองเนื้อสุกรไม่ตรงกับที่แจ้งพาณิชย์จังหวัด จะเข้าข่ายเป็นการกักตุนหรือไม่นั้น เจ้าหน้าทีจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ว่าดวยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดว่า กรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน

ส่วนในกรณที่แจ้งแล้วต้องตรวจสอบต่อไปว่าแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หากแจ้งด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ จะมีความผิดอีกเช่นกัน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

รัฐบาลก็พยายามเต็มที่ตามเงื่อนไขที่ทำได้ ซึ่งอาจสามารถบรรเทาปัญหาได้ชั่วคราว แต่ไม่อาจแก้ไขในระยะยาวได้ ดังเช่นที่เกษตรกรคนเลี้ยงหมูแสดงความเห็นถึงปัญหาหมูแพงว่า เป็นปัญหาโครงสร้างระบบทุนผูกขาด ใช้ระบบเกษตรพันธะสัญญากดราคาหมูที่หน้าฟาร์ม

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์  นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า เกษตรกรกำลังได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่ปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยพ่อค้าคนกลางเสนอราคาซื้อหมูต่ำกว่าราคาประกาศโดยให้เหตุผลว่าประชาชนเริ่มลดการบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ปริมาณการผลิตสุกรอาจเกิดการล้นตลาด ทำให้เกิดผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อผู้เลี้ยงต้องตัดสินใจขายหมูในราคาต่ำกว่าทุน บางฟาร์มขายหมูไม่ออกเพราะผู้ซื้อขอเลื่อนจับหมู บอกว่าการซื้อขายหดตัวอย่างหนัก เกษตรกรจำต้องเลี้ยงหมูต่อทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น

นายสุนทราภรณ์ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เป็นจำเลยของสังคมว่าคนเลี้ยงหมูคือต้นเหตุทำให้ราคาหมูแพง แม้ต้องแบกภาระต้นทุนสูง โดยบางฟาร์มต้นทุนพุ่งไป 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้วก็ตาม เพราะเราต้องการให้สังคมเข้าใจและผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น การที่ผู้ซื้อกดราคาหน้าฟาร์มจึงเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ของเกษตรกร อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยงใหม่ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้” 

ภายใต้เงื่อนไขของระบบเกษตรพันธะสัญญา และทั้งการสร้างตรรกะวิบัติของพ่อค้าคนกลางหวังกดราคารับซื้อ ซึ่งถ้าเกษตรกรไม่ขายก็ต้องแบกต้นทุนค่าหัวอาหารเลี้ยงหมูต่อไป บวกลบคูณหารสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องปล่อยขายในราคาถูก

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมักตกเป็นเบี้ยล่างเสมอ ทั้งที่เป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่การผลิต ไม่ใช่แต่เกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาเท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยอิสระก็เฉกเช่นเดียวกัน