กูรูสหรัฐฟันธง!?เมกาสาหัสถ้าซัดกับรัสเซีย ขณะมะกัน58% เชื่อปชต.จะพังครืน

1342

ส.ส.สหรัฐฯจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็นว่าสหรัฐฯอยู่ในสงครามเย็นรอบใหม่กับรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความตึงเครียดระดับสูงระหว่างสองชาติ กรณียูเครนและผลการเจรจา 3 รอบระหว่างรัสเซียและนาโตล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างยืนยันความต้องการของฝ่ายตนอย่างแข็งกร้าว หลังเจรจาผู้เชี่ยวชาญสหรัฐระบุ ปี่กลองสงครามเริ่มแล้วแต่ถ้าสหรัฐรบกับรัสเซียแพ้แน่ สถานการณ์ภายนอกประเทศเขม็งเกลียวขณะที่ภายในประเทศ คนอเมริกันเกินครึ่งวิตกว่าประชาธิปไตยของสหรัฐใกล้จะพังครืนเพราะประชาชนแตกแยก พรรคใหญ่ที่บริหารประเทศก็แตกแยกทางความคิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าส.ส.ไมเคิล แม็คคอลจากเท็กซัส (Michael McCaul (R-Texas) พรรครีพับลิกัน คณะกรรมการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNNว่าสหรัฐฯ และรัสเซียอยู่ในสถานะ “สงครามเย็นแล้ว” เขากล่าวว่า”ผมเชื่อเช่นนั้นเพราะผมคิดว่าเป็นอีกครั้งที่ปธน.ปูติน ได้กลิ่นความอ่อนแอที่นี่” 

แมคคอลบ่นว่า “แทนที่จะขู่ว่าจะปราบปรามหลังจากการบุกรุกเกิดขึ้น เราควรจัดให้มีการยับยั้งก่อนที่จะเกิดการบุกรุกด้วยซ้ำ”

แม็คคอลได้รับการสนับสนุนทางการเมืองหลายครั้งจากยักษ์ใหญ่ด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ เช่นบริษัทนอร์ททร็อป กรัมแมน (Northrop Grumman)และบริษัทล็อกฮีท มาร์ติน(Lockheed Martin) ก็พูดถึงการขายอาวุธให้ยูเครนมากขึ้นเช่นกัน

ความคิดเห็นของเขามีขึ้นหลังจากซีเอ็นเอ็นรายงานว่าสหรัฐฯ อ้างรัสเซียจะสร้างสถานการณ์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อเป็นข้ออ้างในการรุกรานยูเครนซึ่งรัสเซียตอบโต้ว่าเป็น “ธงเท็จ”ของสหรัฐเอง

การประชุมระหว่างสหรัฐ-นาโตกับรัสเซีย กรณีวิกฤตขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย 3 รอบไม่ประสบความสำเร็จฝ่าทางตันใดๆทั้งสิ้น   รัสเซียไม่ได้ให้คำสัญญาถอนกำลังทหารที่ประจำการชายแดน ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และนาโต้ระบุว่าข้อเรียกร้องของมอสโก ที่เรียกร้องให้นาโต้ต้องไม่รับยูเครนและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มตลอดไป ไม่มีทางประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว

หลังการเจรจาล้มเหลว ไมเคิล คาร์เพนเตอร์(Michael Carpenter, the US ambassador) ผู้แทนทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ปี่กลองแห่งสงครามกำลังดังขึ้นและถ้อยคำโวหารโต้ตอบจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้น”

เอ็ดวาร์ด เกียซต์(Edward Geist) นักวิจัยด้านนโยบายของ RAND Corporation คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะพ่ายแพ้ทางทหารหากสหรัฐฯ ต่อสู้กับรัสเซียในยุโรปหรือจีนเหนือไต้หวันในบทความ War on the Rocksที่เขาเขียน เมื่อเดือนมิถุนายน 2564

ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและรัสเซียกำลังเขม็งเกลียว ภายในประเทศ ประชาชนอเมริกันกลับระส่ำระสาย ห่วงกังวลว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะพังพินาศจากการบริหารของรัฐบาลปธน.โจ ไบเดน และไม่ชอบใจการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าครองชีพกระฉูดไม่หยุด และที่สำคัญมีชาวอเมริกัน 6 ใน 10 คนทีเดียวที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศตกอยู่ในอันตรายถึงขนาดอาจพังครืนได้ จากผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

76% ของผู้ตอบคำถามในการสำรวจความคิดเห็นที่กระทำโดยมหาวิทยาลัยควินนิเพียค (Quinnipiac University) บอกว่าพวกเขาคิดว่าภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่มีอันตรายมากกว่าภัยคุกคามที่มาจากต่างประเทศ

เวลาเดียวกัน ผู้แสดงความเห็นเกินกว่าครึ่ง จำนวนถึง 58%ในโพลนี้ บอกว่าพวกเขาคิดว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะพังครืนลงมา โดยที่มี 37% กล่าวว่าไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน มี 53% ระบุว่า พวกเขาคาดหมายว่าความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐฯ จะเลวร้ายลงไปอีกในช่วงชีวิตของพวกเขา

สำหรับคำถามที่ว่า คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์โจมตีในสหรัฐฯ ทำนองเดียวกับการบุกรัฐสภาขึ้นอีกหรือไม่ ปรากฏว่ามี 53% เลือกตอบว่า มีความเป็นไปได้มากๆ หรือมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน

เวลานี้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลังสอบสวนเหตุการณ์บุกถล่มรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 กันอยู่ โดยผู้ออกความเห็นในโพลนี้ 61% บอกว่าพวกเขาสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนนี้ แต่ถ้าแบ่งผู้ตอบคำถามตามความฝักใฝ่ทางการเมืองของแต่ละคนแล้ว สิ่งที่ออกมาก็คือ พวกเดโมแครต 83% เห็นชอบกับเรื่องนี้ แต่พวกรีพับลิกัน 60% คัดค้าน

โพลนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อมีผู้ตอบคำถามแค่ 33% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขายอมรับผลงานของปธน.ไบเดน  โดย 53% กล่าวว่าไม่ยอมรับ ส่วนอีก 13% ไม่มีความเห็น

มหาวิทยาลัยควินนิเพียคแถลงว่า การสำรวจคราวนี้ใช้ตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ทั่วประเทศจำนวน 1,313 คน โดยดำเนินการสอบถามระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม และคะแนนความผิดพลาดคลาดเคลื่อนซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อยู่ที่ บวกหรือลบ 2.7%