จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ทำการจับกุมนักกิจกรรมทางการเมือง2คนเพราะไปถือป้ายป่วนงานพระราชทานปริญญาบัตร ขณะที่เสียงในสังคมต่างพูดถึงนายจ้างอาจไม่รับเข้าทำงานสำหรับบุคคลที่ไม่รับปริญญานั้น
ทั้งนี้ทราบชื่อต่อมาว่าเป็น นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มศิลปะ Artn’t และ น.ส.พิมชนก ใจหงษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และสมาชิกกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ที่ได้ทำกิจกรรมชูป้ายผ้าข้อความ ก่อนถูกส่งตัวไปสอบสวนที่ สภ.สันกำแพง ก่อนปรับ 2 ข้อหา รวม 1,500 บาท และปล่อยตัวกลับ
โดยเหตุการณ์บางช่วง นายยศสุนทร และน.ส.พิมชนก ได้เดินทางไปยังบริเวณหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายข้อความ “ปริญญาศักดินา” โดย น.ส.พิมชนก ได้ตะโกนคำว่า “ปริญญาศักดินา”
ล่าสุดวันนี้ 15 มกราคม 2565 น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า
“นายจ้างที่ตั้งป้อมจะไม่รับคนที่ไม่เข้าพิธีรับปริญญาเข้าทำงานก็ใจแคบไปหน่อย และอาจลืมคิดไปว่าจริงๆในแต่ละปีที่ผ่านมาก็มีบัณฑิตมากมายที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีด้วยเหตุผลและข้อจำกัดในชีวิตต่างๆกัน ถ้าเป็นเราคงไม่เอามาเป็นเหตุตั้งข้อรังเกียจ
แต่สำหรับคนที่จงใจไปป่วนงานคนอื่นในขณะที่ทั้งบัณฑิตและครอบครัวกำลังมีช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับพวกเขาอยู่ เป็นเราก็ไม่รับเข้าทำงานเหมือนกัน การรู้จักเคารพให้เกียรติคนคือคุณสมบัติพื้นฐานของการทำงานร่วมกัน และการรู้กาลเทศะก็ต้องใช้แค่วุฒิภาวะขั้นต่ำเท่านั้นเอง
คนที่จะแก้ปัญหาในการทำงานได้ต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์และวิธีการบรรลุเป้าหมายโดยไม่ต้องทำลายความสัมพันธ์และคุณสมบัติเหล่านั้น ถ้ายังไม่มี ไม่ว่าจะรับปริญญาทางไปรษณีย์หรือจากเจ้าฟ้าองค์ไหนมากี่ใบก็ไม่มีประโยชน์”
ต่อมาเมื่อข้อความของโบว์ ได้เผยแพร่ออกไป มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดไม่ควรรับบุคคลที่ป่วนงานรับปริญญา เช่น
“สิทธิของนายจ้าง ชีวิตทำงานไม่มีคำว่าเท่าเทียม อธิบายให้เค้าเข้าใจว่าทำไมถึงไม่รับปริญญา สลิ่มเป็นพวกเข้าใจคน เข้าใจชีวิต ถ้าคุณโดดเด่นและเค้าต้องการคุณ เค้าจะเลือกคุณเอง”
“ผมว่าเรื่องไม่รับปริญญามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้นมั้งครับ มันวัดอะไรไม่ได้นักด้วย ปล.สลิ่มไม่ได้เข้าใจคน/ชีวิต ทุกคนครับ ไม่เข้าใจเลยก็มีนั่นแหละ”
“เรื่องใหญ่สิ บริษัทต้องคัดตัวปัญหาออกไปก่อน สามกีบไม่เข้าใจหรอก”
“อุดมการณ์ทางการเมืองมันคือเรื่องส่วนตัว เขาดูกันที่ทัศนคติรายบุคคลมากกว่า บริษัทไหนที่ดูอุดมการณ์ก็เจริญยากครับ เพราะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานยังแยกออกจากกันไม่ได้ มันก็อาจจะแปลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้ และไม่ควรตราหน้าผู้อื่นตั้งแต่เขายังไม่ทันอธิบายนะครับ มันไม่ใช่อะไรที่ดีเลยน่ะ”
“ตัดไฟแต่ต้นลมไม่เสี่ยงรับปัญหาเข้า ผมว่าเขามีสิทธิ เหมือนคนที่ผมรู้จัก ทำงานในบริษัททำงานให้เจ้าสัวแต่ด่าเขาทุกวี่ทุกวันนึกภาพมีคนแบบนี้ในองค์กรสิครับ”
“เราว่าแค่บางบริษัทเท่านั้นที่จะใช้มาตราฐานนี้ ต่อให้บางบริษัทไม่ใช้มาตราฐานนี้ในการเลือกคนทำงานแต่ก็ใช้ว่าจะรอดถ้าเจอบริษัทที่ซักประวัติอย่างละเอียดยิบ ค่ะ”
“ตอนที่รับปริญญาเป็นปีสุดท้ายที่ในหลวง ร.9 พระราชทาน ทุกอย่างในงานพิธีคือดีงามเป็นสิริมงคล แต่ก็มีคนที่แสดงความประสงค์ไม่เข้ารับ เพราะอาจจะไม่สะดวกหรือไม่ชอบพิธีการแค่นั้น คนที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์ได้รับแต่มาทำลายงานคนอื่นนี่ไม่ต่างอะไรกับคนบ้านะ”
“มันคือความภาคภูมิใจของครอบครัวนะที่ลูกจบมาได้รับปริญญา แต่บางครอบครัวอาจจะไม่ใช่ มันคือสิทธิ์ของทุกคนที่จะรับหรือไม่เข้ารับ แต่ถ้าคุณไม่รับคุณมีสิทธิ์แต่ไม่ใช่ไปยืนประท้วงถือป้ายแบบนี้ เอาจริงๆคนมีประชาธิปไตยดีๆเค้าไม่ทำหรอกประชาธิปไตยที่ดีคืออะไรกลับไปทบทวนดู… ไม่ต้องคิดว่าคนอื่นจะโง่เค้ารู้ จะมาด้อยค่าคนอื่นแต่กลับด้อยค่าตัวเองสะงั้น..”
“คนพวกนี้จงใจก่อกวน ทำนองถ่อยแล้วเท่ห์ พวกไร้ราคา”