เปิดชะตากรรม “แกนนำบุรีรัมย์ปลดแอก” หลังโดนคดีอื้อพ่วง “112” สมัครงาน4ที่ไม่มีใครรับ-ทำของขายเองก็ขายไม่ได้!
จากกรณีที่วันนี้ (13 มกราคม 2564) นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ หรือข่าวสดอิงลิช ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีของนอว จตุพร แซ่อึ้ง แกนนำกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก และสมาชิกกลุ่ม We Volunteer (Wevo) โดยบอกว่า
โทษทางอ้อมของคนโดนคดีการเมือง: กรณีจตุพร แซ่อึ้ง เมื่อต้นอาทิตย์ผมได้สัมภาษณ์ Jatuporn Saeoueng ผู้ซึ่งโดนคดีทางการเมือง 6 คดี รวมถึง ม112 เพราะถูกกล่าวหาว่าแต่งตัวและเดินล้อเลียนพระราชินี สืบเนื่องจากการชุมนุมที่ถนนสีลมปลายปี 63
ตอนนี้เธอตกงานมาปีกว่าแล้ว พยายามหางาน ไปสมัครเป็นผู้ช่วยพ่อครัว sous chef ซึ่งเป็นอาชีพเธอก่อนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ก็ได้รับการปฎิเสธ บอกให้ไปเคลียร์คดีให้เสร็จก่อน “มันไม่ใช่แค่รู้สึกหรอก มันลองมาแล้ว 4-5 ที่ เขาบอกเคลียร์คดีตัวเองให้เสร็จก่อน… พอรู้ว่าโดนคดีก็ไม่มีใครกล้ารับไปทำงาน หลังๆมาก็พยายามทำของขาย แต่เศรษฐกิจแบบนี้ขายไม่ได้ ตอนนี้คิดว่าจะปลูกผัก” (จตุพรเองก็เข้าใจ ถ้าต้องลาที 2-3 วันบ่อยๆเพื่อไปทำธุระเรื่องคดีที่กรุงเทพฯ หรือขอนแก่น คงไม่มีใครทำอาหาร แล้วนายจ้างคงลำบาก)
ตอนนี้เธออยู่ที่บุรีรัมย์ อาศัยบ้านพ่อแม่ที่อยู่จังหวัดอื่น และแม่ก็ส่งเงินมาช่วยบ้างแม้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย อาหารหลักจึงเป็นมาม่ากับไข่ เป็นหนี้ธนาคาร 12,000 บาท ยังดีที่ระยะหลังมีกองทุนสาธารณะฝั่งไม่เอา 112 ให้เบิกค่าเดินทางและที่พักได้ แต่ค่าอาหารต้องจ่ายเอง ไม่รวมถึงเวลาที่เสียไป
ส่วนการโดน 6 คดีทางการเมืองแปลว่าเธอต้องเดินทางจากบุรีรัมย์เข้ากรุง 6-7 ครั้งแล้วตลอดปีกว่า บางครั้งเพื่อเซ็นลายมือในเอกสารเพียงจุดเดียว เพราะระบบราชการไทยไม่ยอมให้เซ็นที่ภูมิลำเนา และยังมีคดีที่ขอนแก่นและบุรีรัมย์
“คือมัน plan ชีวิตลำบากมาก” จตุพร ซึ่งปัจจุบันอายุ 25 และเป็น LGBT บอกผม “ใช่ค่ะ มันแค่นั้นเลยชีวิต”
พ่อแม่แฟนจตุพร ที่กาฬสินธุ์ได้รับการเยี่ยมเยี่ยนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไซโคบอกพวกเขาว่าอย่าให้ลูกสาวไปคบกับจตุพร เพราะเรื่องการเมืองและคดี บลาๆๆ ปีที่แล้วเธอกินยาแก้เครียดอยู่ 4 เดือน แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจหยุด แล้วหันไปใช้เทียนหอมและน้ำมันสกัดแทน แต่ก็ยังมีปัญหานอนไม่หลับ เบ้าตาคล้ำ
“มันเอ๋อ” จตุพรกล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลิกทานยา “มันเอ๋อ” คืออาการตอนเช้าหลังกินยา ปีนี้เข้าปีที่ 2 ตั้งแต่โดนคดี คดี 112 อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว เริ่มพิจารณาคดีเดือนมิถุนานี้ “หนูรู้สึกว่าเขาทำให้เราเสียเวลาชีวิต จะฟ้องก็ไม่ฟ้อง จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย ซึ่งมันได้ผล… [แต่] ต่อสู้ ต่อสู้อยู่แล้ว แค่เหนื่อย มันมาขนาดนี้ มันถอยไม่ได้” จตุพรกล่าวทิ้งทายกับผม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์และจัดแสดงศิลปะของประชาชนที่สีลม นอกจากนักศึกษาคือ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจพิบูลย์ผล จะถูกดำเนินคดีฐานเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 ราย คือ จตุพร แซ่อึง ซึ่งแต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และ “สายน้ำ” ซึ่งแต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึก ถูกแอดมินเพจ #เชียร์ลุง เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีม.112
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 นำตัว น.ส.จตุพร มายื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ , ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด, ร่วมกันชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในที่สาธารณะ, ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 บริเวณหน้าวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) เรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. อยู่ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย และตรวจหลักฐานในวันที่ 13 กันยายน2564 เวลา 09.00 น. และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้จำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรม อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ หรือกระทำการลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องอีก, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 อัยการจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งฟ้องดคีหมิ่นประมาทผู้หมื่นโดยการโฆษณา แก่จตุพร แซ่อึง หรือนิว นักกิจกรรมจากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก โดยโจทก์ผู้ฟ้องร้อง คือ เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อดีต ส.ส.จ.บุรีรัมย์ และรัฐมนตรีหลายสมัย จากการโพสต์ข้อความและแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนใน จ.บุรีรัมย์
หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน ขณะที่จตุพรถูกตำรวจนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องด้านหลังศาล หลังจากนั้น จตุพรได้ขึ้นให้การต่อศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เมื่อศาลพิจารณาคำให้การและหลักฐานแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้สาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะมาศาลตามนัด โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและสืบพยานในวันที่ 24 ม.ค. และ 3 ก.พ. 2565 ตามลำดับ