ททท.ปี 65 ล้ำ!!จับสวนทุเรียนเข้าเมตาเวิร์ส ชูไทยเที่ยวไทยเพิ่ม ดึงต่างชาติปั้นรายได้ 1.12 ล้านล.

1715

การพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่ “ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม” คือโจทย์ใหญ่ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) หลังวิกฤติโควิด-19 เข้ามาล้างไพ่! เปลี่ยนทิศทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ให้มุ่งสู่การทำตลาดที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยปี 2565 มุ่งหน้าสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง-ยั่งยืน จะหวะแรกเตรียมจับสวนทุเรียนไทยเข้าสู่ เมตาเวิร์ส พร้อมกระตุ้นไทยเที่ยวไทยเพิ่ม และดึงต่างชาติกลับ เดินหน้าปั้นรายได้ 1.12 ล้านล.

วันที่ 17 ธ.ค.2564 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 วางแผนในการพลิกโฉมภาคการท่องเที่ยวไทย ภายใต้แนวคิดอะเมซิ่ง นิว แชปเตอร์ หรือการสร้างภาพใหม่ของการท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างสมดุลในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ก่อนจะเริ่มทำการคืนสภาพเดิมของธุรกิจการท่องเที่ยว 

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นวีเซฟ ตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ถึงปี 2565 การสร้างความยืดหยุ่นและทนทานกับปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อวางรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่มีมูลค่าสูง (High Value) และการสร้างความยั่งยืน (Sustainable) เริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยต้องคงความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจไทย เร่งฟื้นตัว ลุกเร็ว ก้าวไว เติบใหญ่ เข้มแข็ง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ซึ่งเน้นให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นพระเอกในการสร้างรายได้เข้าประเทศไทยต่อไป โดย ททท.วางเป้าหมายการสร้างรายได้ของภาคการท่องเที่ยวปี 2565 รวมอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีจำนวน 10 ล้านคน สร้างรายได้ 6.3 แสนล้านบาท และตลาดไทยเที่ยวไทย เดินทาง 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4.9 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดไว้ 3 แบบได้แก่ 

1.อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ 50% โดยจะต้องกระตุ้นให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และเป็นการเดินทางที่พักค้างคืนด้วย ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีอัตราการพักแรมอยู่ที่ 25% ทำให้ตั้งเป้าในปี 2565 จะต้องดึงการพักแรมกลับมาไม่น้อยกว่า 50% ในทุกพื้นที่ให้ได้ 

2.อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 70% โดยจะต้องดึงความสามารถในการรองรับผู้โดยสารสูงสุดกลับมาอย่างน้อย 50% ก่อน เพราะหากจำนวนผู้โดยสารไม่กลับมา สายการบินไม่ทำการบิน ตั๋วเครื่องบินก็จะมีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อการเดินทางระยะไกล และ 

3.ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริป แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 12,580 บาท และนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 4,100 บาท ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเน้นเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูง และมุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่ม โดยจะแบ่งเป็นเซ็กเมนต์และทำการตลาดให้ตรงกับเซ็กเมนต์ของลูกค้า 

ทำการตลาดด้วยเทคโนโลยีในการประยุกต์การตลาดแบบสร้างเรื่องเล่า (Story) พิเศษเฉพาะขึ้นมา มากกว่าการขายตรงที่ตัวแหล่งท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพื่อมอบประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อาทิ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทะเลเหมือนกัน แต่จะสร้างเรื่องราวที่มีความพิเศษของทะเลแต่ละพื้นที่ ว่าทำไมจะต้องไปเที่ยวทะเลเหล่านั้น เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในรูปแบบใด รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายและเพิ่มมูลค่า อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และเต็มใจจ่ายด้วยราคาสูง ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของสินค้าที่จะขายนั้น วางตัวย่อไว้คือ NFX X (Experience Thai Tourism) เน้นใน 3 รายการ ได้แก่ 1.Nature to keep การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นการปกป้องและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.Food to explore หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และต่อยอดอาหารไทยสู่ความเป็นสากลมากขึ้น และ 3.Thainess to discover หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่างๆ 

โดยมีแผนการทำตลาดผ่านการดึงอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ที่ทำคอนเทนต์เผยแพร่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ซึ่งจะต้องมียอดผู้ติดตามเกิน 1,000,000 คน เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากหากทำแคมเปญร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ 1 คน ที่มียอดผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคน เท่ากับเราสามารถสร้างการรับรู้ให้กับผู้ติดตามเหล่านั้นได้ด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เข้ามาสนับสนุนในการปรับใช้ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของภาคการธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รวมถึงสะดวกด้านการให้บริการที่ช่วยให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ในการสื่อสารและการรับข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยวได้

“ในอนาคตจะเห็น ททท.ร่วมมือกับเครือข่ายหรือองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น เป็นทีเอทีเอ็กซ์ (TAT X) กับพันธมิตร เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ เหมือนแนวคิดที่จะทำเหรียญดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีขึ้น เพื่อใช้ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2565 นี้ 

สำหรับบทบาทของบริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ จะเริ่มการสร้างเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือพื้นที่เสมือนจริงสำหรับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวให้ได้ เบื้องต้นจะเริ่มจากการสร้างเมตาเวิร์สของไร่ทุเรียนก่อน เพื่อให้เป็นโมเดลต้นแบบ และเป็นการสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในด้านการท่องเที่ยวด้วย 

ผู้ว่าททท.กล่าวว่า “กำลังศึกษาแนวทางการทำเมตาเวิร์ส เริ่มต้นจากไร่ทุเรียนซึ่งน่าจะได้เห็นในฤดูกาลทุเรียนปีหน้า คือช่วงเดือน พ.ค.2565  ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับเจ้าของไร่ทุเรียนที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และนนทบุรีด้วย รวมทั้งจะเปิดรับสมัครสวนทุเรียนทั้งประเทศ เช่น ทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ หรือพันธุ์อื่นๆให้เข้ามาร่วม ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการสร้างเมตาเวิร์สขึ้นมาเป็นโลกเสมือนจริงที่คนที่เข้ามาจะได้เห็นสวนทุเรียน และสามารถทำการซื้อขายได้จริง ซึ่งการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใช้ประโยชน์จากคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นเรื่องที่ ททท.สามารถเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อนได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกอย่างเสร็จแล้วค่อยทำ”

นอกจากนี้ ททท.ยังหาทางการใช้ประโยชน์จากNFT ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ และมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ในงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพวาด กราฟิก วิดีโอและเพลง โดย ททท.จะหาทางนำมาใช้ประโยชน์กับภาคการท่องเที่ยว เช่น เมื่อมาเที่ยวประเทศไทยแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวก็ได้เหรียญดิจิทัลเป็นสิ่งตอบแทน หรือมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วสามารถเก็บเหรียญดิจิทัลที่จะให้ไปใช้ประโยชน์ หรือกิจกรรมต่างๆได้ และในอนาคต ททท.ยังเตรียมผลักดันให้เกิดมาร์เกตเพลส เพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวได้อีกด้วย