บิ๊กตู่ปลื้มตัวเลขเศรษฐกิจโงหัว!?! สั่งเดินหน้า “ช็อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษี 3 หมื่น วอนเอกชน-ธนาคารเสียสละเพื่อชาติ

1604

ศบศ.พิจารณาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-กระตุ้นใช้จ่าย กระตุ้นเดินทางไตรมาส 4 ทั้งโครงการคนละครึ่ง, จ๊อบเอ็กซโป ได้รับการตอบรับดีทำนายกฯบิ๊กตู่มั่นใจว่าตัวเลขการฟื้นตัวจะดีขึ้น ไฟเขียวแผน”ช๊อปดีมีคืน”  วอนภาคเอกชน-ธนาคารเสียสละเพื่อส่วนรวมให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมเตรียมแผนเพิ่มเติมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจต่อเนื่อง สัญญาณบวกที่คณะทำงานมองเห็นจะเป็นแค่มายาภาพหรือ ข้อเท็จจริง ต้องดูจากชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนว่า มาตรการทั้งหมดนี้แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ในระดับไหน และยังคงต้องคิดถึงความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ การพัฒนาศักยภาพในทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างจับต้องได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะนำพาประเทศไทย และชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นอย่างแท้จริงได้อย่างไร ไม่ใช่พร่ำบ่นเพียงลอยๆ

นายกฯมั่นใจตัวเลขการฟื้นตัวที่ดี 

วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้พิจารณาประเมินมาตรการเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการอยู่และมาตรการเพิ่มเติม เพื่อเสนอ ครม.ในการประชุมสัปดาห์หน้า ผลจากการรายงานทำนายกฯมั่นใจว่ามาถูกทาง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯได้กำชับติดตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังล็อกดาวน์ประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งที่นายกฯเป็นห่วงได้แก่ ปัญหาการว่างงาน, การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน

-แก้ปัญหาว่างงาน  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานว่า เรื่องที่ดำเนินอยู่ การจัดงาน Job Expo 2020 ที่ไบเทค บางนาเพื่อรองรับคนว่างงาน มีอัตรารองรับ 1,495,000 อัตรา ได้รับผลตอบรับดีมากอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขรายงานครม.ต่อไป

-การกระตุ้นเศรษฐกิจ มีด้านการท่องเที่ยวและมาตรการทั่วไป ได้แก่  การท่องเที่ยว มีมาตรการช่วยเหลือโครงการ “เที่ยวด้วยกันและกำลังใจ” เป็นการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศ เลื่อนระยะเวลาใช้สิทธิ์ไปถึง 31 ม.ค.2564  สมาคมโรงแรมทำแพ็กเกจในการซื้อห้องจำนวนมากราคาพิเศษ ผนวกแผนการท่องเที่ยว ททท.จะเป็นผู้ออกแบบนำเสนอ

…มาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาทต่อเดือน 14 ล้านคน เป็นเวลา 3 เดือน

…มาตรการ “คนละครึ่ง” รัฐบาลอุดหนุนคนละไม่เกิน 3,000 บาท เป้าหมาย 10 ล้านคน เน้นพ่อค่าแม่ค้ารายย่อยได้ประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยเป็นหลัก มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท มีร้านค้าลงทะเบียนร่วมโครงการแล้ว 2แสนร้านในช่วง 1-6ตค. 63

…มาตรการ “ช็อปดีมีคืน” เตรียมเสนอครม.เดินหน้าช้อปช่วยชาติ เป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการในระบบภาษี นำรายได้จากการร่วมโครงการสามารถลดหย่อนถึง มีนาคม 2564 รวมใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 ต่อคน เป้าหมาย 3.7 ล้านคน งบประมาณ 120,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน คาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 200,000 ล้านบาท

สถานการณ์เศรษฐกิจเชิงภาพรวมของไทยปัจจุบัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  เปิดเผยรายงาน นโยบายการเงิน (ก.ย.2563) ประเมินโดยกนง.(คณะกรรนมการนโยบายการเงิน) ดังนี้คือ

-เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวร้อยละ 7.8 เนื่องจากไตรมาส 2 ได้ผลกระทบรุนแรงจากการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ  ข้อมูลล่าสุดสะท้อนพัฒนาการที่ดีกว่าคาดในหลายองค์ประกอบ เช่น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยปรับดีขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสูง

– เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัด  อุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง รวมถึงหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีถึงจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาด

-ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับ COVID-19 ได้แก่ (1) ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงในไทย (2) มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 และคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัดจากการใช้มาตรการคัดกรองและควบคุมพื้นที่ที่เข้มงวด และ (3) วัคซีนป้องกันโรคจะมีใช้อย่างแพร่หลายในไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564

– ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความไม่แน่นอนและเปิดรับได้จำกัด โดยคาดว่าไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และมีการใช้มาตรการคัดกรองและควบคุมพื้นที่ที่เข้มงวด โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน และ 9 ล้านคน ตามลำดับ

– มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.2 ในปี 2563 โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลาง ยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว สำหรับปี 2564 การส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 แต่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากผลของมาตรการกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งโครงสร้างการส่งออกของไทยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์

– ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 และปี 2564 จะเกินดุล อยู่ที่ 14.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และ 14.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ โดยเกินดุลลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากดุลบริการขาดดุลมากขึ้นตามรายรับนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณการส่งออกสินค้าและอุปสงค์ในประเทศปี 2563 ที่สูงกว่าคาด และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น

– การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว โดยจะกลับมาขยายตัวในปี 2564 ทั้งนี้ การบริโภคในระยะต่อไปมี แนวโน้มชะลอลงกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันจะยังอยู่ในระดับสูง ผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากทั้งค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ฯลฯ

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์โควิด-19ล่าสุด และสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของกนง. กล่าวคือตัวเลขหลายด้านปรับตัวดีขึ้น ได้แก่การใช้จ่ายที่สูงขึ้น การส่งออกติดลบลดลง ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และรายได้เกษตรกรสูงขึ้นใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนมีอัตราการท่องเที่ยวในประเทศสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะกระจุกตัวบริเวณจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และมีดัชนีการเคลื่อนย้ายที่สูงขึ้นทุกตัว