พลิกฟื้นเชื่อมั่น!!เอกชนฟันธงไตรมาสแรก’65 ศ.ไทยโตสูงขึ้น ดันต่อคนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืนกระตุ้นซ้ำ

1203

เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัว แม้จะยังอยู่ในระยะการระบาดโควิด-19  นายกฯมั่นใจในแรงหนุนจากมาตรการรัฐกระตุ้นการใช้จ่าย  ด้านภาคเอกชนเชื่อมั่นไตรมาสแรกปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่ ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 จะเติบโตบวก 3.9% 

วันที่ 16 ธ.ค.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง จากการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตร้อยละ 3.9  เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตร้อยละ 1 ในปีนี้  สอดคล้องกับผลวิจัยกรุงศรีโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  รายงานแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.6% จากที่ในปี 64 เติบโตอยู่ที่ 1.1% 

นายธนกร กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นภาคเอกชนสูงขึ้นในปีหน้าเป็นผลมาจาก แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปได้รวดเร็วและทั่วถึง และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับต่ำ

“รัฐบาลส่งเสริมปัจจัยบวกต่างๆที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง อาทิ การผลักดันธนาคารกลางแห่งประเทศไทยให้คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ร้อยละ 0.50 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค และการคงกรอบอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 1-3% เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และเป็นแรงส่งสำหรับเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฯยังมุ่งผลักดันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิต การบริการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในระยะยาวด้วย ” 

ด้านหอการค้าฯ หนุนรัฐบาลต่อ คนละครึ่ง- ช็อปดีมีคืน และมาตรการลดค่าครองชีพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยขอบคุณรัฐบาลที่ประกาศความชัดเจนในการจัดกิจกรรมปีใหม่ ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นส่งต่อไปในปีหน้า ทั้งนี้ ยังมีมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนได้ เช่น ข้อเสนอด้านการเพิ่มกำลังซื้อ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและตรงกับความต้องการของประชาชน จึงต้องการให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการระยะต่อไปในปีหน้า ส่วนมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ออกมาแล้ว ยังมีคนใช้ไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ และจะหมดในสิ้นปีนี้

หอการค้าไทยจึงเสนอให้นำ มาตรการช้อปดีมีคืน กลับมาใช้ทันทีไปจนถึงปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับคนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ และช่วยให้ผู้ประกอบการระบายสินค้าจาก Stock ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศของเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยภาคเอกชนเสนอให้เพิ่มวงเงิน จากเดิมปีที่แล้วให้วงเงิน 30,000 บาท เสนอปรับเป็น 50,000 บาท ด้วย โดยคาดว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 50,000 ล้านบาท แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม

ด้านการท่องเที่ยว สำหรับแพ็กเกจ เราเที่ยวด้วยกัน ที่เพิ่งหมดไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นเรื่องการเดินทางและการใช้จ่ายในประเทศได้กลับมาแล้ว จึงขอเสนอให้มีการต่ออายุมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ต่อไป เพื่อเสริมต่อในฤดูท่องเที่ยว และช่วงเวลาที่ยังมีวันหยุด พร้อมกับส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวที่บอบช้ำจากการปิดประเทศที่ผ่านมา

นอกจากนั้น หอการค้าไทยยังเสนอให้มีการลดค่าใช้จ่าย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศช่วยลดค่าน้ำมันมาให้แล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปีหน้ามีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถพิจารณาลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่นค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวในระยะยาว รัฐบาลควรเร่งมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงบริบทไปแล้ว กฎระเบียบหลายเรื่องอาจไม่ตอบโจทย์รูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป ดังนั้น รัฐบาลควรเน้นทำหน้าที่เป็น Facilitator ให้กับภาคเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป