ณัฐพลรอดยาก? ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ คดีวิทยานิพนธ์ฯ ขณะอดีตผู้พิพากษาหน.ศาลฏีกา ฟันธง ศาลวินิจฉัยถูกแล้ว

4186

ณัฐพลรอดยาก? ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ คดีวิทยานิพนธ์ฯ ขณะอดีตผู้พิพากษาหน.ศาลฏีกา ฟันธง ศาลวินิจฉัยถูกแล้ว

จากกรณีที่ศาลแพ่งนัดไต่สวนครั้งแรกในคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องร้องนักวิชาการและบรรณาธิการรวมทั้งหมด 6 คน ในฐานความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

คดีนี้ ม.ร.ว.ปรียนันทนา ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ยื่นฟ้อง ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” และหนังสืออีก 2 เล่ม คือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” เป็นจำเลยที่ 1 โดยคำฟ้องสรุปใจความได้ว่า ผศ.ดร.ณัฐพลบิดเบือนความจริงด้วยความจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในวิทยานิพนธ์ ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย

ส่วนจำเลยที่ 2-6 ได้แก่ รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์, นายชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล, น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม และนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ล่าสุด ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ออกมาเปิดเผยว่า การพิจารณาที่ศาลวันนี้ ศาลไม่อนุญาตให้นายณัฐพลยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ศาลต้องทำความเห็นส่งศาลปกครอง ซึ่งจะมีการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 

ในขณะที่ทางด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นความผิดพลาดของจำเลยที่ 1 และทนายความที่จำเลยที่ 1 ปรึกษา คือเข้าใจว่าเป็นการปิดหมาย จึงมีสิทธิยื่นคำให้การภายใน 30 วัน แต่กรณีนี้มีผู้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทนจำเลยที่ 1 จึงต้องยื่นคำให้การหรือขออนุญาตขยายเวลาการยื่นคำให้การภายใน 15 วัน การศาลไม่อนุญาตจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ออกแถลงการณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า “มีความเสียใจ” ที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่เธอเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

รศ.ดร.กุลลดา วัย 75 ปี ซึ่งเดินทางมาที่ศาลด้วยตัวเองโดยต้องนั่งรถเข็นเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ระบุในแถลงการณ์ว่า การฟ้องร้องเธอในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นการละเมิดหลักการเสรีภาพในการแสดงออกและในทางวิชาการส่วนการตีพิมพ์หนังสือที่เป็นผลผลิตของวิทยานิพนธ์นั้นเธอไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ

รศ.ดร.กุลลดากล่าวด้วยว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าวิทยานิพนธ์นี้สอบผ่าน และเป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี หากจุฬาฯ มีความเป็นสถาบันวิชาการในระดับสากลควรต้องรับรองหลักการดังกล่าวในสถาบัน

“เป็นที่น่าเสียใจว่าจุฬาลงกรณ์ไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลนี้ และไม่ได้ดำเนินการปกป้องในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งทำตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร แต่กลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของเธอในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว และในทางตรงกันข้าม ดิฉันกลับได้รับการสนับสนุนกำลังใจ ไมตรีจิต และความช่วยเหลือจากอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน ซึ่งดิฉันขอขอบพระคุณ ณ ที่นี้ด้วย ” รศ.ดร.กุลลดาระบุในแถลงการณ์