ลุ้น!?!ลดภาษีรถEV คันแรก ตั้งกองทุนหนุนคนไทยใช้มากขึ้น มีผล 1 ม.ค.65

1596

จากนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมพลังงานสะอาด และผลักดันให้ประเทศไทยมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ถึง 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศภายในปี 2573 โดยรัฐบาลวางโรดแมปส่งเสริมจากบีโอไอ และมีคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กระตุ้นจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งคืนภาษีหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ล่าสุดรัฐบาล เตรียมออกมาตรการ “ภาษีรถอีวีคันแรก” หลัง “สุพัฒนพงษ์” เคาะมาตรการหลักหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี คาดมีผลเร็วสุด 1 ม.ค. 2565 พร้อมตั้งกองทุนหวังช่วยกดราคารถยนต์ไฟฟ้า ยันราคาต้องไม่แรงกว่ารถสันดาป

วันที่ 29 พ.ย. 2564 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้พิจารณาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน พิจารณาในช่วงเดือน ธ.ค. นี้ โดยคาดว่ามาตรการภาษีรถอีวี จะมีผลในปี 2565 หรือ อย่างเร็วที่สุดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565

ทั้งนี้ มาตรการภาษีรถอีวี จะต้องมีลักษณะที่สนับสนุนให้คนมีรถได้ คล้ายกับมาตรการภาษีรถคันแรก แต่รายเอียดจะต้องรอให้ นายสุพัฒนพงษ์ เป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด โดยจะมีการตั้งกองทุนเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของราคา รวมทั้งพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายในการถือครองรถ (Total Cost Of Owner) จะต้องไม่สูงกว่ารถสันดาปในปัจจุบัน เช่น รถอีวีอยู่ที่ 900,000 บาทต่อคัน ก็ต้องต้องใกล้เคียงกับรถสันดาปปัจจุบันที่ 600,000 บาทต่อคัน เพื่อให้สามารถซื้อรถอีวีได้ในราคาถูกลง

ปัจจุบันภาษีนำเข้ารถยนต์อีวียังมีความแตกต่างกัน โดยมาตรการภาษีรถอีวี จะเป็นอัตราเดียวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี ขณะที่นโยบายการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวี เชื่อว่า ผู้ประกอบการยังมีความต้องการเข้ามาลงทุน แต่ความพร้อมแต่ละรายไม่เท่ากัน ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ส่วนการสนับสนุนให้ไทยเป็นจ้าวแห่งการผลิตรถกระบะไฟฟ้า ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะอยู่แล้ว แต่ถ้าจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าก็ยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะปัจจุบัน รถกระบะขนาดบรรทุก 1 ตัน เมื่อเป็นรถไฟฟ้า มีขนาดแบตเตอรี่ 200-300 กิโลกรัม หากต้องการจะสนับสนุนก็ต้องไปพิจารณารายละเอียด ความเป็นไปได้อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ให้เร่งพิจารณามาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีทั้งห่วงโซ่การผลิต เริ่มต้้งแต่การผลิตแบตเตอรี่เป็นต้นไป รวมถึงอาจต้องมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์อีวีในระยะต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการ หรือกลไกที่เข้าไปช่วยเพื่อสนับสนุนให้ราคารถยนต์อีวีลดลง จากปัจจุบันที่มีราคาแพง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานมากขึ้น เบื้องต้นอาจดำเนินการเป็นลักษณะเงินกองทุน ส่วนรายละเอียดคงต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติพิจารณา

ขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ไทยซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าแห่งการผลิตรถกระบะ น้ำหนัก1ตัน เริ่มมีการผลิตรถกระบะแบบไฟฟ้า จากขณะนี้ที่เริ่มมีค่ายรถยนต์บางแห่งมีการนำเข้ารถกระบะประเภทดังกล่าวมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีสายการผลิตในประเทศ ดังนั้นเงื่อนไขในการนำเข้ารถกระบะไฟฟ้าระยะแรกอาจต้องเพิ่มเรื่องการสนับสนุนการผลิตในประเทศไทยเข้าไปด้วย โดยต้องไปดูโครงสร้างภาษีที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนรถกระบะไฟฟ้า เพื่อให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะ ซึ่งที่ผ่านมามีทางการผลิตเพื่อขายในประเทศและการส่งออก

ด้านกระทรวงการคลังกำลังเร่งปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้นและไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ต่อไป 

โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จะเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลงใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ผ่านมาตรการภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในรูปแบบกองทุน เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถอีวีจะปรับลดภาษีเหลือ 0% ส่วนรถไฮบริดที่ใช้ทั้งไฟฟ้า และน้ำมัน จะยังมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก ส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยังคงเสียภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตรถอีวีในประเทศต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งภาษีนำเข้ารถอีวียังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ทำให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% ส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นภาษีนำเข้า 20% รถยนต์จากยุโรป 80% และเกาหลี 40% หากไทยยังต้องการเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้เหมาะสมมิเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ได้