อ.จุฬาฯ แฉเบื้องหลัง NGO บางส่วนเข้าไทย ทำผิดกฎหมาย ผิดกติกา ไม่มีใบอนุญาต พร้อมทำตามสั่งต่างชาติ

2005

อ.จุฬาฯ แฉเบื้องหลัง NGO บางส่วนเข้าไทย ทำผิดกฎหมาย ผิดกติกา ไม่มีใบอนุญาตทำงาน แถมแผนการดำเนินงานอยู่ที่ นายทุนต่างประเทศ!

เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นที่ยังคงต้องจับตามมองอย่างยิ่ง หลังจากที่ช่วงหลังมานี้ ได้มีการพูดถึงองค์กรอิสระจากต่างประเทศที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย เป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ก็มันจะมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มขับเคลื่อน และนักการเมืองบางพรรค ทำให้เกิดความสงสัยว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรหรือไม่

ล่าสุดทางด้านของ รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn โดยมีรายละเอียดว่า

บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

ในอดีตมักจะพูดกันว่า “Geneva of the East” ก็คือเมืองหางโจว (จีน: 杭州; พินอิน: Hángzhōu) ประเทศจีน เพราะเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพงดงาม มีทะเลสาบขนาดใหญ่ มีภูมิอากาศที่ดี และเป็นศูนย์กลางการค้าการติดต่อกับต่างประเทศมายาวนาน เช่นเดียวกับเมืองเจนีวาต้นตำหรับของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลายปีที่ผ่านมา มีคนสังเกตว่ากรุงเทพฯ กำลังจะกลายเป็นเมืองเจนีวาแห่งใหม่ของตะวันออก โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการทูตและการต่างประเทศ เพราะองค์การระหว่างประเทศ (International Organization – IGO) องค์กรสากล ตลอดจนองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร (Non-Governmental Oganization – NGO) ได้ย้ายเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยมากขึ้น ซึ่งก็รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) เช่น UNHCR หรือองค์การสากลอื่นๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เป็นต้น

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ มีสำนักงานต่างๆ ภายใต้กำกับหรือเกี่ยวข้องกับ UN เกือบ 50 แห่ง ไม่นับรวมสำนักงานขององค์การสากลและองค์กรต่างชาติอื่นๆ อีกนับร้อยแห่ง บางแห่งก็ยังมีสำนักงานย่อยอยู่ในจังหวัดที่ไกลออกไป เช่น ที่สงขลาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) เป็นต้น

โดยไทยก็ได้มีกฏหมายใหม่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดระเบียบในเรื่องนี้ไปแล้ว ปัจจุบัน ยังมีการพิจารณาเพื่อออกกฏหมายเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือรายได้อีกด้วย ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ากฏเกณฑ์หรือกติกาที่จะออกมานั้น เหมาะสมหรือเป็นประโยชน์อย่างไร (รวมทั้งเรื่องที่จะต้องรายงานทางการเงินด้วย)

โดยทั่วไป ต้องถือว่าการที่ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ไทยเราคุ้นเคยกับต่างชาติมานานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการเข้ามาตั้งสำนักงานเพิ่มขึ้นในปัจจุบันนั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ต่อประเทศไทย และต่อเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคหลายประการ เพราะนอกจากจะทำให้คนไทยมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว องค์กรและองค์การต่างชาติเหล่านี้ก็ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราและของเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ด้านแรงงาน ด้านสิทธิพื้นฐานต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานของไทยและของเพื่อนบ้านตื่นตัวมากขึ้นด้วย

การทำงานของต่างชาติในไทยส่วนใหญ่ เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศและองค์กรสากลเหล่านี้ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงสากล ปฏิบัติตามกฏหมายของไทย และมีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยโดยทั่วไป ทั้งนี้ ในการเข้ามาทำงานนั้น จะต้องเริ่มด้วยการขออนุญาตทำงานหรือตั้งสำนักงานจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยก่อน หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องดำเนินงานตามกฏระเบียบและข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งส่งแผนงานการดำเนินการของสำนักงานให้เราทราบ

โดยจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการทำงาน ในบางกรณีก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากทางการไทยได้ด้วย เช่น ด้านงบประมาณ ด้านข้อมูล ด้านบุคลากร ด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปในพื้นที่ เช่น พื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่สามจังหวัดทางตอนใต้นั้น ก็จะต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานของเราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย

แต่หลายปีที่ผ่านมา มีข้อสังเกตเกิดขึ้นว่า บางส่วนซึ่งก็เป็นส่วนน้อย ไม่ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยเท่าที่ควรจะเป็น เช่น ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่ได้จัดตั้งและบริหารสำนักงานให้เรียบร้อย ไม่ได้มีหรือส่งแผนการดำเนินการของตนเอง โดยมักอ้างว่าแผนการดำเนินการของตนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก หรือเข้าไปในพื้นที่ต่างๆโดยไม่แจ้ง หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ ทั้งทางกฎหมายและระเบียบพิธีการทางการทูต

หากข้อสังเกตเหล่านี้เป็นจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรีบพิจารณาแก้ไขในส่วนที่บกพร่องหรือเป็นปัญหาโดยเร็ว และดำเนินการใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฏหมายและแนวปฏิบัติที่เราประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในการทำงานกับต่างชาติ

การที่เราจะเป็นเมืองเจนีวาทางตะวันออกหรือไม่ หรือการที่ต่างชาติจะย้ายสำนักงานอะไรเข้ามาในประเทศของเราหรือจะออกไปเมื่อไรนั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทุกภาคส่วนจะทำงานร่วมกันกับต่างชาติที่อยู่ในบ้านเราในขณะนี้ให้เหมาะสมตามกติกาได้อย่างไร โดยตั้งมั่นอยู่กับผลประโยชน์ของคนไทยและของประเทศไทยเป็นสำคัญ