จากที่ Amnesty International Thailand โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมนั้น
ทั้งนี้สำหรับทุกคน เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ เอ็นจีโอ ที่เข้ามาบทบาทในประเทศไทย จากการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
วันนี้เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับองค์กรของเรากันอีกครั้ง ผ่าน 6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล!
แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
– จดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นมาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก
สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
– สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดที่ว่าตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความเป็นจริงแอมเนสตี้มีจุดกำเนิดมาจาก ปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ ดังนั้นจึงทำให้สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้
– เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเรามีเงินจัดกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร และบางคนมีความเข้าใจผิดที่ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงเงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมของเราล้วนแต่มาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ
เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง
-แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน
มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วโลก
– เนื่องด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมเราในปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มากมาย จึงทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ ยังคงต้องยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน และการที่เรามีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศก็สามารถทำให้เราทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร
ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 60 ปี
– ตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ เรายังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเกิดความเท่าเทียมมากกว่าที่เป็น จนทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย อาทิการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกในปี 2520 หรือล่าสุด ฆาลิด ดราเรนี นักข่าวชาวแอลจีเรียได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกคุมขังเพียงเพราะทำหน้าที่รายงานข่าวเมื่อปี 2563
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง
ขณะที่ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้แชร์โพสต์นี้พร้อมระบุข้อความว่า “ขอบคุณมิตรสหายที่ส่งกำลังใจมานะคะ ใครเห็นรูปต่างๆก็ส่งมา ยังไงช่วยลองอ่านและแชร์ได้ค่า จริงๆมีมากกว่าหกอย่าง”
ต่อมาเมื่อข้อความดังกล่าวของแอมเนสตี้ฯเผยแพร่ออกไปก็ปรากฏว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของแอมเนสตี้ฯเป็นจำนวนมาก เช่น
“แอมนาสตี้ ต้องบอก ให้ ผู้ชุมนุม เลิกใช้ เด็ก ต่ำกว่า18 มาร่วมชุมนุม เด็กๆเหล่านั้นควรได้รับการปกป้ปงจากกลุ่มการ้มือง แอมนาสตี้เข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว”
“เมื่อไหร่จะออกไป อยู่บนแผ่นดินเขา แต่อกตัญญูแผ่นดิน
คนไทยที่ทำงานกับองค์กรนี้ไม่อับอายหรือละอายใจบ้างเหรอ ผมถามจริงๆเหอะ”
“อธิบายซะยืดยาว เหมือนจะกลัวคนเค้าไม่รู้โน้ะ ว่ามีไว้ทำไร นั่นมันก็แค่คำจำกัดความ ที่เขียนขึ้น ให้ดูดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์โลกก็เท่านั้นเอง ..แต่การกระทำและแนวทางที่ปฏิบัติ มันไม่ใช่อ่ะ ออกไปเถอะนะ!!”
“ฟางเส้นสุดท้ายที่คิดว่า amnesty จุ้นกับเมืองไทยมากเกินไป คือการมาบอกว่าศาลไทยผิด นึ่คือการเลือกข้างอย่างชัดเจน amnesty getout!!!!!!”
“6 ความจริงที่ผมไม่อยากรู้ ที่ผมอยากรู้มีเพียงหนึ่งเดียว คือว่าทำไมถึงแทรกแซงกิจการภายในประเทศผม และทำไมถึงสนับสนุนคนที่กระทำผิด มาอยู่ในประเทศผม แล้วทำไมถึงไม่เคารพกฎหมายประเทศผม และสุดท้ายคือว่า เมื่อไหร่จะออกจากประเทศผมไปซะที”