จุ้นไปเรื่อย คนไทยอยากไล่ให้พ้น!? “แอมเนสตี้” ปลุกระดมเขียนจม.ล้านฉบับ ออกตัวป้องแกนนำ จี้หยุดดำเนินคดี “รุ้ง ปนัสยา”!

1667

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 15 พ.ย.64 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดสอบคำให้การคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง น.ส.เบนจา อะปัน นายภวัต หิรัณย์ภณ และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.63 จำเลยร่วมกันกระทำผิดโดยนายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา จำเลยที่ 1-2 แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้ประชาชน มาร่วมกิจกรรม สวมเสื้อผ้า ครอปท็อป ชุดเสื้อกล้ามเอวลอย แล้วไปเดินที่ห้างฯ สยามพารากอน เขตปทุมวัน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลให้เหตุผลว่าพิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 2 หรือรุ้ง ภายหลังถูกฟ้องคดีนี้แล้วก็ได้เคยกระทำความผิดตามลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องมาเเละจำเลยที่ 2 ยังถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันที่ศาลอาญา จึงเกรงว่าถ้าปล่อยไปจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีกจึงให้ยกคำร้อง

ล่าสุดทางด้านนางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ซึ่งกลับมาอีกครั้งในปีที่ 20 ที่จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

“จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 20 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ที่เราทุกคนมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 4.5 ล้านฉบับในปี 2563 รวมทั้งทวีตและลายเซ็น ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม” โดยปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” จากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้เป็นครั้งแรกด้วย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เน้นรณรงค์ช่วยเหลือ ทั้งนี้พบว่า มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจำนวน 25 ราย จึงน่าจับตามองว่า เหตุใดแอมเนสตี้ ถึงชูประเด็นช่วยเหลือ “รุ้ง ปนัสยา” ขึ้นมาเป็นหลักของการรณรงค์แคมเปญเขียนจดหมายให้ทั่วโลกได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยด้วยว่า เอ็มเมอร์ลีน จิล รอง ผอ.สำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกมาพูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเรียกร้องของแกนคณะราษฎรเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ว่าเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ว่า การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาให้ข้อมูลแบบนี้กำลังเข้าข่ายละเมิดศาลหรือไม่ และกำลังเข้าข่ายในการปลุกระดม ให้คนเกิดการต่อต้านอำนาจศาลหรือไม่

องค์กรแห่งนี้อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำนั้นเข้าข่ายสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งละเมิดอำนาจศาล และละเมิดสิทธิมนุษยชนสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนส่วนใหญ่ ที่สำคัญองค์กรแห่งนี้เป็นองค์กรต่างชาติ ไม่ควรยุ่งเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองของไทยอย่างยิ่ง ประเทศไทยยังสมควรให้องค์กรแห่งนี้อยู่ในประเทศไทยอีกหรือ เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรแห่งนี้เคลื่อนไหว เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด คอยให้การสนับสนุนกลุ่มบุคลคลที่สร้างความรุนแรง ออกแถลงการณ์แต่ละครั้งก็ค้านสายตาคนทั้งประเทศ ขนาดกลุ่มม็อบใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่แอมเนสตี้ยังออกมาเรียกร้องให้ตำรวจยุติการใช้ความรุนแรง ซี่งสวนทางกับความจริงมาโดยตลอด

“ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทย คนไทย ควรพิจารณาขับไล่องค์กรแห่งนี้พ้นผืนแผ่นดินไทย เหมือนหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่ากัมพูชา อินเดีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ฮ่องกงก็ไม่ยอมให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคลื่อนไหวในประเทศอีกต่อไป เพราะการเคลื่อนไหวนั้นเป็นการทำลายประเทศอย่างต่อเนื่อง และคนที่ออกมาพูดก็ไม่ใช่คนไทย ดังนั้น ไม่เข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย อ้างแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ทำไม ยอมให้คนกลุ่มหนึ่ง ก้าวล่วง และละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงยิ่งกว่า”