ในที่สุดสหรัฐก็แบไต๋ว่าจะขายความคิดอะไรเรื่องโลกร้อน สร้างความฮือฮาแบบหนาวๆร้อนๆให้ชาวโลก เมื่อมหาเศรษฐี“บิล เกตส์” จับมือ “วอร์เรน บัฟเฟตส์”เจ้าพ่อหุ้นฯ สร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เนเทรียมสุดล้ำ 4 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯซึ่งจะได้รับเงินทุนครึ่งหนึ่งจากรัฐบาล แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าโครงการนี้เป็นความพยายามที่เข้าใจผิดในการบรรลุเป้าหมายการลด CO2เตือน “ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลว” ติดไฟง่ายหวั่นระเบิดได้แม้จะเตรียมระบบป้องกันภัยอย่างดี
การเดินหน้าสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เนเทรียมซึ่งใช้ในเรือดำน้ำกองทัพสหรัฐฯ จะนำมาสร้างเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินในรัฐไวโอมิง สอดคล้องกับการชูประเด็นโลกร้อนในงาน COP26 ของปธน.โจ ไบเดนและเกตส์ ในขณะที่ด้านต่างประเทศ สหรัฐมุ่งมั่นต่อต้านคว่ำบาตรประเทศอื่นห้ามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นอิหร่าน เกาหลีเหนือแต่ตัวเองกลับทำได้หน้าตาเฉย
เมื่อวันที่ 17 พ.ย2564 หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า บริษัทเทอร์ราพาวเวอร์ (TerraPower) แถลงว่า ระหว่างที่เรื่องคำขอการอนุมัติยังคงค้างอยู่ในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯและระดับท้องถิ่น ทางบริษัทเตรียมที่จะก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 345 เมกะวัตต์ที่โรงงานพลังงานนอตัน( Naughton Power Plant) ในเคมเมอร์เรอร์(Kemmerer) รัฐไวโอมิง ห่างออกไปจากเมืองซอลต์ เลค ซิตี้(Salt Lake City)ทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 130 ไมล์ โปรเจกต์นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 เศรษฐีพันล้านสหรัฐฯ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และวอร์เรน บัฟเฟตส์ พ่อมดการเงินแห่งวอลสตรีท
บัฟเฟตส์เป็นเจ้าของโรงงานพลังงานนอตันซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่กำลังจะปิดตัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบริษัทที่จะหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เป็นต้นว่า พลังงานลม ซึ่งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนทำลายบรรยากาศโลก และถูกพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลก
ขณะที่เกตส์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเทอร์ราพาวเวอร์นั้นกำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทจีอี-ฮิตาชิ(GE-Hitachi)ในการสร้างโรงงานขึ้นมาที่จะสามารถทำงานได้หลังจากได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คาดว่าจะมีการใช้คนงานจำนวน 2,000 คนสำหรับการก่อสร้างในช่วงเวลาที่พีคสุดของเฟส และเจ้าหน้าที่อีก 250 คนสำหรับปฎิบัติการภายในโรงงานหลังการสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โรงงานไฟฟ้ากำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนได้ราว 250,000 หลังพร้อมกับความสามารถจ่ายไฟฟ้าสูงสุด 500 เมกะวัตต์ในช่วงที่มีความต้องการมาก
เอพีรายงานว่า ระบบเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ เนเทรียม( Natrium reactor) ที่ใช้ในโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของเกตส์และบัฟเฟตส์นี้คล้ายคลึงกับระบบเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ของเรือดำน้ำกองทัพสหรัฐฯซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก
เอพีรายงานว่า ประธานบริหารบริษัทเทอร์ราพาวเวอร์ คริส เลอเวค(Chris Levesque) ชี้ว่า “เนเทรียมจะเป็นการพัฒนาถัดไปของความปลอดภัย ที่สำคัญคือมันจะไม่พึ่งแหล่งพลังงานจากภายนอก ปั้ม หรือเครื่องมืออื่นเพื่อช่วยการกู้ระบบของโรงงานยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน” โดยเขาอ้างว่าจะไม่เกิดเหตุเหมือนวิกฤติโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นที่เกิดล่มหลังคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2001
เอพีชี้ว่า ยังมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสงสัยถึงประโยชน์ในการใช้ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลว โดยหนึ่งในนั้นคือ เอ็ดวิน ไลแมน(Edwin Lyman) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้วิตกกังวล( Union of Concerned Scientists) แสดงความเห็นว่า “การใช้โซเดียมเหลวมีปัญหามากมาย มันเป็นสสารที่ไม่เสถียรและมันสามารถติดไฟได้หากว่าเกิดสัมผัสกับอากาศหรือน้ำ” และเขากล่าวต่อว่า “ด้วยความสัจจริงผมไม่เข้าใจในแรงจูงใจนี้” และได้ชี้ว่า “มีคนบางส่วนที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากต่อมัน และคนเหล่านี้สามารถชนะที่นี่ในวันนี้ด้วยการหว่านล้อมของบิล เกตส์ว่านี่เป็นเทคโนโลยีล้ำที่ดีที่สมควรต้องติดตาม”
ไมเคิล อี มานน์ (Michael E. Mann) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศที่ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) กล่าวว่า “บิลล์ เกตส์ มองข้ามบทบาทของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและปลอดภัยในการลดการปล่อยคาร์บอนให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเลือกเทคโนโลยีที่อันตรายและมีความเสี่ยงมากกว่า เช่น วิศวกรรมภูมิศาสตร์และนิวเคลียร์”
Mann ผู้ลงนามในคำประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ที่เรียกร้องให้มีการลดการปล่อยคาร์บอนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% กล่าวว่าเขาพบว่ามันน่าหนักใจที่ Gates พยายามที่จะทำกำไรจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “ทิศทางที่ผิด” เขากล่าวว่า “มันเป็นแนวทางที่ผิดและอันตรายเพราะมันนำเราไปสู่เส้นทางที่ผิด อุปสรรคต่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีความหมายยังไม่ใช่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ณ จุดนี้ มันเป็นเรื่องการเมือง”