ปิยบุตร เข้าสภาแจงแก้รธน.! สุดท้ายขู่ “สส.-สว.”ใครโหวตคว่ำร่าง ปชช.จะลงโทษลต.ครั้งหน้า?

1843

ปิยบุตร เข้าสภาแจงแก้รธน.! สุดท้ายขู่ “สส.-สว.”ใครโหวตคว่ำร่าง ปชช.จะลงโทษลต.ครั้งหน้า?

จากกรณีที่ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภานัดพิจารณาเรื่องด่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชนวันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนลงมติวาระแรกวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสนอโดย “กลุ่มรีโซลูชั่น” (Re-solution) ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง135,247 คน ตามเงื่อนไขธรรมนูญมาตรา 256 (1)ตามขั้นตอนวันที่ 16 พ.ย. ที่ประชุมรัฐสภา แบ่งเวลาอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 18 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน, วุฒิสภาฝ่ายละ 5 ชั่วโมง

ขณะที่กลุ่มรีโซลูชันในฐานะผู้เสนอร่าง ได้เวลาแถลงรายละเอียด 3 ชั่วโมง โดยมีตัวแทน 4 คนเข้าชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภาประกอบด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นาย ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ย.64) นายปิยุบตร ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า ความหวังถึงรัฐสภา : ขอให้จิตสำนึกอยู่เหนือฝักฝ่าย ทำเพื่อชาติและประชาชนจริง ๆ สักครั้ง

ส.ว. มักทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองตลอด เวลาจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญๆ ที่ลดทอนอำนาจของตนเอง แต่กลับไปสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา เช่น ระบบเลือกตั้ง ส่วนอะไรก็ตามที่นำไปสู่การทำให้ตนเองเสียประโยชน์ หรือกระทั่งนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ส.ว. ก็ไม่เคยเอาด้วย
คำถามก็คือตกลงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลายไปอย่างนั้นหรือ โดยที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้เลย? หรือเราจะได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเฉพาะเรื่องประเด็นเล็กน้อยเท่านั้น? นี่คืออุปสรรคใหญ่ จนนำมาซึ่งวิกฤติการเมืองที่เป็นอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งเสียงเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เสียงเรียกร้องจากพี่น้องประชาชน
อุปสรรคการแก้รัฐธรรมนูญมีเยอะพอสมควร ขั้นแรกต้องมี ส.ว. เห็นด้วยจำนวน 1 ใน 3 แล้วต่อให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เราผ่านด่านนี้ไปได้ เมื่อไปถึงการลงมติวาระที่สาม ก็ยังต้องมี ส.ว. และเสียงของฝ่ายค้านด้วย สุดท้ายด้วยความที่เราแก้ไขหลายประเด็น ก็จะต้องประชามติอีก ยังไม่นับรวมว่าจะมีมือดีร้องไปศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ
การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ต้องผ่านผู้ออกใบอนุญาตไม่รู้กี่ด่าน ปัญหาก็คือแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการแบบนี้? ประชาชนซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ถึงเวลาพอประชาชนจะใช้อำนาจจริงกลับถูกสกัดขัดขวางตลอดเวลา
ครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า “ระบบผู้แทน” จะสนองต่อความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน? เปิดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ทำตามกระบวนการทั้งหมด แต่แล้วแต่ถึงเวลา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีอำนาจที่จะขัดขวางได้ตลอด
ชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตา พรรคไหน-ส.ส. คนไหน โหวตล้มร่างของประชาชนอีกครั้ง
การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ #รื้อระบอบประยุทธ์ ของ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมี 4 ข้อเสนอหลัก คือ
– ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว
– โละ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มาอำนาจการตรวจสอบ
– เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
– ล้าง มรดกรัฐประหาร
อยากให้สมาชิกรัฐสภามองข้ามมิติเรื่องของฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เพราะร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลเลย นี่คือร่างที่พี่น้องประชาชน แสนกว่าคนเสนอเข้าสู่สภา เป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบกัน คนที่จะเสียเปรียบแน่ๆ คือ ส.ว. 250 คน อันนี้ก็ต้องขอให้เขาเห็นแก่อนาคตประเทศ
ตัวเองก็เป็นมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว ส.ว. บางคนนี่เป็นตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรกๆ ออกมา จนวันนี้ยังเป็นอยู่เลย แค่นี้ก็ผิดปกติแล้ว ดังนั้นผมก็เลยอยากจะเชิญชวนให้ฟังการอภิปราย การนำเสนอของเรา เหตุและผลที่เราเสนอร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้มา ลองอ่านศึกษาดู อย่าคิดแต่เพียงแค่ว่าฉันจะโหวตล้ม เพราะว่าร่างนี้มันเป็นของฝ่ายตรงข้ามร่างขึ้นมา ถ้าได้ลองศึกษาดูแล้วอาจจะตัดสินใจโหวตรับก็ได้
สุดท้าย อยากให้พี่น้องประชาชนทั้งที่เข้าชื่อกับเราหรือที่เข้าชื่อกับเราไม่ทัน แต่สนับสนุนร่างนี้ ช่วยกันเรียกร้อง ส่งสัญญาณไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพวกท่าน ไปถึง ส.ส. เขตบ้านท่าน ช่วยส่งสัญญาณไปบอกเขาหน่อยว่าช่วยโหวตให้ไปก่อน เสร็จแล้วคุณยังมีโอกาสปรับปรุงอะไรกันอีกรอบในชั้นกรรมาธิการ
วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นี้ ลองเปิดการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฟังดู อย่าคิดแต่เพียงว่าไม่ผ่านแน่ๆ การอภิปรายในสภามีประโยชน์อยู่ในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วลองใช้วิจารณญาณของพี่น้องประชาชนในการฟังว่าน้ำหนักเหตุผลของใครดีกว่าใคร ในท้ายที่สุดแน่นอนว่าสภาจะต้องเป็นคนโหวต แต่พี่น้องประชาชนจะเป็นคนตัดสิน เพราะพี่น้องมีอำนาจลงโทษเขาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป