จากกรณีที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกอบจ.จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” โดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน เพราะสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน จนต่อมามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โดยล่าสุดนางวิรังรอง ทัพพะรังสี นิสิตเก่าสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยัง อธิการบดีจุฬาฯ ซึ่งมีใจความระบุว่า “ข้าพเจ้าและคณะ ไม่ได้ต้องการทราบแค่ผลการสอบสวนที่ผู้บริหารจุฬาฯ กำลังดำเนินการต่อนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แต่พวกเราหวังพึ่งสนง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกม. วินิจฉัยว่า นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี ผู้บริหารของจุฬาฯ และหน่วยงานรัฐที่ได้ร้องเรียนไปแล้วนั้น ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามกม. ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการที่อบจ.ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขตอันอาจเข้าข่ายว่าเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑….”
วันนี้ได้ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมไปที่สนง. ผู้ตรวจการแผ่นดินดังข้อความด้านล่างนี้
ข้าพเจ้าได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว และรู้สึกยินดีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ดำเนินการให้อธิการบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ข้าพเจ้าและคณะ ได้ร้องเรียนมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เข้าประชุมพร้อมกันเพื่อชี้แจงในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ ดังมีผู้เข้าร่วมประชุมดังนี้
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ขัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ประธานสภาคณาจารย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี ด้านการบริหารทั่วไปและศิลปวัฒนธรรม และเลขานุการสภามหาวิทยาลัย
พันตำรวจเอก น้ำเพชร ทรัพย์อุดม รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่าอธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้บริหารระดับสูงของจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าและคณะได้ร้องเรียนไป เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยที่ประชุมขอให้ทุกหน่วยงานที่เข้าประชุม ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น บัดนี้ทุกหน่วยงานได้ส่งหนังสือชี้แจงเรียบร้อยแล้วยกเว้นผู้บริหารจุฬาฯ มิได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตกำลังดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ
ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๒ แห่งพรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐ ขอทราบรายละเอียดดังกล่าวจากจุฬาฯ แต่ก็ยังไม่มีข่าวความคืบหน้าใด ๆ
ข้าพเจ้าและคณะ เห็นว่า กระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับจุฬาฯ และประเทศไทยโดยส่วนรวม เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่จาบจ้วง กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
การที่นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ ไม่เร่งรัดสอบสวน และไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สะสมและหมักหมมมายาวนานนับแต่นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เข้ามาเป็นผู้บริหารจุฬาฯ ทั้ง ๒ สมัยติดกัน ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนปัจจุบัน สโมสรนิสิต จุฬาฯ (อบจ.) ได้ใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต และขัดต่อระเบียบวินัยของนิสิตฯ ตลอดจนประเพณีอันดีงามของจุฬาฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นยุคเสื่อมที่สุดของจุฬาฯ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ความเคลื่อนไหวของ อบจ. ภายใต้การนำของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกอบจ. เป็นเรื่องที่อาจนำไปสู่ความบานปลาย และ/หรืออาจมีเบื้องหลังทางการเมืองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ได้มีควาผิดเฉพาะตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิตเท่านั้น แต่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย โดยผู้บริหารจุฬาฯ กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้จบได้ในรั้วจุฬาฯ
ข้าพเจ้าและคณะ ในฐานะประชาชนคนไทย ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหรือกลุ่มใดมาล่วงเกินหรือล้มล้าง และเห็นว่าเรื่องที่ได้ร้องเรียนมาจนถึงวันนี้ได้ส่งข้อมูลใหม่มาเพิ่มเติมทั้งหมด ๓ ครั้ง ทางสนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ใช้เวลามานานเกินสมควรแล้ว จึงใคร่ขอให้ท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ได้โปรดวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของข้าพเจ้าและคณะ ตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ โดยมิต้องรอหนังสือชี้แจงจากทางผู้บิรหารจุฬาฯ
อนึ่ง ในหนังสือแจ้งความคืบหน้าจากสนง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีถึงข้าพเจ้าและคณะนั้น มีข้อความว่าข้าพเจ้าและคณะได้ร้องเรียนเรื่องอธิการบดีและผู้บริหารจุฬาฯ ไม่พิจารณาดำเนินการทางวินัยกับนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตนั้น และทางสนง. ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงกำลังรอผลการสอบสวนดังกล่าว
ข้าพเจ้าและคณะ ขอกราบเรียนท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ด้วยความเคารพว่า ข้าพเจ้าและคณะ ไม่ได้ต้องการทราบแค่ผลการสอบสวนนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แต่พวกเราหวังพึ่งสนง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกม. วินิจฉัยว่า นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี ผู้บริหารของจุฬาฯ และหน่วยงานรัฐที่ได้ร้องเรียนไปแล้วนั้น ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามกม. ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการที่อบจ.ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขตอันอาจเข้าข่ายว่าเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑
สุดท้ายนี้ เนื่องจาก “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กร” ดังนั้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๔ กรณี “อานนท์-ไมค์-รุ้ง” ล้มล้างการปกครองฯ น่าจะสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยการกระทำของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกอบจ. และการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของอธิการบดี ผู้บริหารจุฬาฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกร้องเรียน โดยมิต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต
วิรังรอง ทัพพะรังสี
เขียนในนามผู้ร้องเรียนและคณะ