บิ๊กตู่ดัน”สะพานไทย” 1.2 ล้านล้านบาท!?! เชื่อมEECและ SEC ฟื้นศก.ยั่งยืน ย้ำดูแลปชช.ในพื้นที่ด้วย

2996

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการมาต่อเนื่อง 5 ปีโดยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ลงนามแล้ว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกพอ. เห็นว่าอีอีซีเริ่มสำเร็จแล้ว จำเป็นต้องมีโครงการใหม่มาสร้างแรงจูงใจการลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเร่งผลักดันโครงการสะพานไทย, แลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมโยงทั้ง EEC และ SEC ให้ต่อเนื่องกัน นายกฯตอกย้ำผู้ปฏิบัติงานต้องดูแลประโยชน์ของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้อย่างจริงจัง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563  โดยย้ำผลักดันให้เกิดการลงทุน เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อพบปะนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และติดตามแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติที่ผ่านมา เห็นถึงโอกาสและศักยภาพไทยในการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมครอบคลุมบก น้ำ อากาศ  ให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภายในภูมิภาค รวมทั้งระหว่างภูมิภาคอีกด้วย 

“รัฐบาลจริงจังต่อการขับเคลื่อน EEC ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุน วางแผนอนาคต สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคตให้เกิดขึ้นได้จริง” 

 นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การพัฒนา “คน” สำคัญที่สุด ต้องยกระดับและปรับฝีมือแรงงาน (Re-skill) เตรียมความพร้อมแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนและความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งให้สอดคล้องกับอนาคตของประเทศ  ซึ่งที่ประชุมยังได้รับทราบ การเตรียมจัดมหกรรมจัดหางาน หรือ  EEC Job and Skill Expo ในพื้นที่  EEC ในเร็ว ๆ นี้ด้วย 

แหลมฉบับเฟส 3 ใกล้เป็นจริง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)  ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนในอีอีซี โดยการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งตั้งเป้าที่จะลงนามร่วมลงทุนภายในปี 2563

การประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ช่วงเจรจาขั้นสุดท้ายกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน ซึ่งจะเสนอ กพอ.ในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าและตรงกับข้อกำหนดทีโออาร์หรือไม่

กพอ.จะเป็นผู้พิจารณาหลายประเด็น โดยหากมีปัญหาบางประการขัดกับมติ กพอ.เดิมก็อาจต้องหารือในที่ประชุมแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การประมูลเดินหน้าต่อไป เพราะหากจะเริ่มประมูลใหม่จะต้องเสียเวลาอีกกว่า 1 ปี ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 และการพัฒนาท่าเทียบเรืออื่นให้มีความจุ 18 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปีภายในปี 2572 เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค รวมถึงเชื่อมเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) กับอีอีซี เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และลดระยะเวลาและขั้นตอนการขนส่งสินค้า 

กพอ.เห็นชอบแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสกพอ. จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู)ต่อปี 

2.โครงการสะพานไทยที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี) ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร ประหยัดเวลาเดินทาง 2–3 ชั่วโมง โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้าง 10-15 ปี

สำหรับลักษณะโครงการจะมีอุโมงค์ลอดใต้ทะเลจะฝั่งแหลมฉบังและฝั่งเพชรบุรี เพื่อให้เรือสามารถเดินทางเข้าออกในทะเลอ่าวไทยได้ และจากนั้นจะยกระดับขึ้นเป็นสะพานบนเกาะกลางอ่าวไทย รวมมูลค่าการลงทุน 990,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2575

3.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ด้วยรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์

รายละเอียดโครงการแบ่งเป็นการปรับปรุงท่าเรือระนอง ท่าเรือชุมพร 15,037 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 รวมถึงการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ท่าเรือ 45,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 การพัฒนารถไฟทางคู่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2570 และการพัฒนารถไฟทางคู่ประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2564

บีโอไอเผยขอลงทุนแล้ว 1.58 ล้านล้าน

การลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563)  ประกอบด้วย

โอกาสนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการบริหารใน กพอ. และแต่งตั้งนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพอ.ด้วย 

โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรีได้เปิดเผยในช่วงท้ายว่า นายกรัฐมนตรียังได้ฝากข้อคิดเห็นแก่ที่ประชุม โดยย้ำถึงการดูแลเกษตรกรและประชาชนที่อยู่รอบด้านและในพื้นที่ EEC สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่ในการพัฒนา เพราะรัฐบาลต้องการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยด้วย