อเมริกาตื่นตระหนก!?จีนมีอาวุธไฮเปอร์โซนิก เลี่ยงระบบต้านขีปนาวุธได้

1282

ข่าวฮือฮาในแวดวงการทหารในสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่พ้นเรื่อง ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีน เรื่องนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯพยายามหลีกเลี่ยงการยืนยันอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีน ซึ่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ของอังกฤษรายงาน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตลอดจนเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธชนิดนี้ที่มีความเร็วเหนือเสียงมากกว่า 5 เท่า ในขณะที่การทดสอบยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐยังไม่ประสบความสำเร็จเต็มร้อย แม้จะมีรายงานยิงทดสอบถึง 3 แบบในวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางการจีนตอบโต้ว่า เป็นสร้างความหวาดกลัวและข้ออ้างของสหรัฐฯในการขยายกำลังทหารและงบฯประมาณมากกว่า

เมื่อวันพุธที่ 27 ต.ค.2564 พลเอก มาร์ก มิลลีย์(General Mark Milley) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ได้ยืนยันเป็นครั้งแรกว่า จีนได้ทดสอบระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกแน่  ผู้เชี่ยวชาญทางทหารระบุว่า สะท้อนความพยายามของปักกิ่งในการพัฒนาขีปนาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ก่อนวกกลับลงสู่เป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของวอชิงตัน เป็นประเด็นหนุนกองทัพสหรัฐฯ ขอตั้งงบประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและผ่านการอนุมัตจากวุฒิสภา เพื่อทุ่มวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู้ ‘จีน’

มิลลีย์บอกว่า เกือบเรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญพอกับเมื่อปี 1957 ที่รัสเซียเป็นชาติแรกในโลกที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และส่งให้มอสโกนำหน้าอเมริกาในการแข่งขันทางอวกาศในยุคสงครามเย็น นายทหารใหญ่ของอเมริกายังสำทับว่า พัฒนาการนี้ของจีนน่ากังวลอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ชี้ว่า การทดสอบอาวุธของจีนดูเหมือนออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงระบบป้องกันของอเมริกาในสองวิธีด้วยกัน วิธีแรกคือ ระบบไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็วเหนือเสียงมากกว่า 5 เท่า หรือราว 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ตรวจจับและสกัดยากขึ้น

ส่วนวิธีที่สองนั้น แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์ว่า อเมริกาเชื่อว่า การทดสอบของจีนเกี่ยวข้องกับอาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกช่วงหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารระบุว่า เป็นแนวคิดที่เรียกว่า การทิ้งระเบิดจากส่วนของวงโคจร หรือแฟรคชันนัล ออบิทัล บอมบาร์ดเม้นท์(fractional orbital bombardment-FOB) เรียกแบบง่ายๆว่า เอฟโอบี

เมื่อเดือนที่แล้ว แฟรงก์ เคนดัลล์ รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศของสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอาวุธที่ยิงขึ้นสู่วงโคจรก่อนยิงลงไปยังเป้าหมายบนโลก โดยบอกว่า อาวุธแบบนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้วิถีขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แบบเดิมที่ยิงตรงจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่ตกกระทบ จึงสามารถหลบหลีกระบบป้องกันและเตือนภัยขีปนาวุธได้

เอฟโอบียังช่วยให้จีนหลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกาในอะแลสกาที่ออกแบบมาเพื่อรับมืออาวุธจำนวนจำกัดจากประเทศอย่างเกาหลีเหนือ

เจฟฟรีย์ ลูอิส จากสถาบันการศึกษานานาชาติมิดเดิลเบอรี สรุปภาพคร่าวๆ ของเอฟโอบีของจีนว่า อาจหมายถึงกระสวยอวกาศที่ไม่มีล้อลงจอด บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในช่องเก็บสัมภาระ และกลับเข้าสู่โลกแบบเครื่องร่อน

นอกจากนี้นายบิล เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือซีไอเอ บรรยายสรุปว่าจีนเป็นภัยคุกคามเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดต่อสหรัฐ และจะเพิ่มความพยายามเกาะติดจีน

ทางด้านกระทรวงต่างประเทศของจีนปฏิเสธว่า ไม่ได้ทดสอบอาวุธดังกล่าว แต่มีการทดสอบปกติในเดือนสิงหาคม และไม่ใช่ขีปนาวุธ ทว่าเป็นยานอวกาศ

เรื่องนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ (Nuclear-Capable Hypersonic Missile) ของจีน หลังจากสื่อรายงานในช่วงสุดสัปดาห์ว่า จีนได้ทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางการจีนได้ปฏิเสธ ไบเดนกล่าวว่าแม้สหรัฐฯจะมีกองทัพที่ใหญ่และแพงที่สุดในโลก แต่เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ก็ยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในด้านสำคัญหลายประการ

ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯได้กำหนดให้การพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก เป็นหนี่งในนโยบายสำคัญสูงสุด เพื่อแข่งขัน 2 ประเทศปรปักษ์คู่หู จีน-รัสเซีย ที่กำลังคร่ำเคร่งพัฒนาอาวุธประเภทนี้อยู่

การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐ มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ รวมถึงความล้มเหลวล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ซ้ำรอยการทดสอบของกองทัพอากาศ ในเดือน เม.ย.ปีนี้ นั่นหมายความว่า จนถึงขณะนี้ การพัฒนาไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐยังไม่ประสบความสำเร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์