เสี่ยงถูกยุบพรรคสูง? เปิดหลักฐานสำคัญ “หนังสือเพื่อไทย” สั่งส.ส.ห้ามเบี้ยวมติ ปลด 2 งูเห่า ฝ่าฝืนพ.ร.ป.พรรคการเมือง ขัดต่อรธน.ชัดเจน!

1579

สืบเนื่องจากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่า จากกรณีที่พรรคเพื่อไทยลงมติขับ ส.ส. 2 คน คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ไปแล้วนั้น ซึ่งเมื่อติดตามข่าวในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย และข่าวในเว็บไซต์สื่อมวลชนอื่นที่เกี่ยวข้อง

จะพบเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่ ส.ส. ทั้ง 2 คน ลงมติไม่เป็นไปตามหนังสือพรรคเพื่อไทยวันที่ 30 ส.ค. 2564 ซึ่งหัวหน้าพรรคเป็นผู้ลงนามแจ้งให้ ส.ส. ของพรรคทุกคนต้องลงมติตามความในหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้ในหนังสือของเพื่อไทยฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 30 ส.ค. 64 โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลงนามคำสั่ง ขอให้ ส.ส.ทุกท่านปฏิบัติตามมติของพรรค หาก ส.ส.คนใดฝ่าฝืน ไม่มาประชุมเพื่อลงมติ หรือลงมติที่ผิดไปจากนโยบายของพรรค พรรคถือว่า สมาชิกผู้นั้นผิดวินัยและจริยธรรมการเป็นสมาชิกพรรคอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นให้พ้นจากสมาชิก จะดำเนินการตามข้อบังคับพรรคอย่างเด็ดขาดต่อไป

นอกจากนี้นายเรืองไกร ยังกล่าวว่า แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 114 และมาตรา 124 สรุปว่า ส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.มีเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดในการแสดงความคิดเห็นหรืออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าว ส.ส. ผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้ ดังนั้น กรณีที่พรรคเพื่อไทย ลงมติขับ ส.ส. 2 คน นั้น เมื่อพิจารณาจากข่าวในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยและข่าวในเว็บไซต์สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะพบเหตุที่มาจากหนังสือพรรคเพื่อไทย วันที่ 30 ส.ค. 64 เป็นส่วนสำคัญด้วย

การขับ ส.ส. 2 คน โดยมีเหตุจากข้อความในหนังสือดังกล่าวด้วยนั้น จึงอาจมีลักษณะที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 และมาตรา 124 กรณี จึงมีเหตุต้องขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าว หากขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ ซึ่งกรณีจดหมายเคยร้องให้ กกต. ตรวจสอบไปแล้ว การลงมติขับ ส.ส. 2 คน จึงเป็นพยานหลักฐานที่ต้องร้อง กกต. เพิ่มเติม

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ได้ระบุว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

และในมาตรา 124 ระบุว่า “ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้

เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดซึ่งได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม”

ดังนั้นในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 10.00 น. นายเรืองไกรจะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองเพื่อให้ กกต. ตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวต้องไปให้ถ้อยคำต่อ กกต. ตามหนังสือที่ ลต. 015/10353 กรณีร้องขอให้ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ด้วย