ผ่าทางตันเอสเอ็มอี!?! ธปท.-คลังเร่งแก้ต่อเวลาพักหนี้เข้าถึงซอฟท์โลน ท่องเที่ยว,โรงแรม, การบินรอความหวังได้ไปต่อ

1924

ปัญหาแก้หนี้เอสเอ็มอียังค้างคาอยู่กับเรื่องซอฟท์โลน ว่าจะทะลวงท่อธนาคารอย่างไรให้เข้าถึงได้ จะต่อพักหนี้ไปก่อนระยะเวลาเท่าไร ขณะที่ธปท.เล็งต่อเวลาพักหนี้เอสเอ็มอีเพิ่มไปเป็น 1 ปี แต่ยังคุมเข้มการพิจารณาซอฟท์โลนโดยดูเป็นรายเซ็กเตอร์ คลังหนุนรอบคอบกันกู้ไปโปะหนี้เก่าไม่ไปลงทุน  ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม-สายการบินชะเง้อรอทวงซอฟท์โลนกลางตุลาคมนี้  หวังปรับตัวรับผลทดลองเปิดประเทศท่องเที่ยวแบบจำกัดได้ทัน จากนี้คงต้องจับตาบทบาทฝีมือของผู้ว่าการธปท.คนใหม่ “ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”ที่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง 1 ต.ค.2563 แล้ว และรอดู รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ที่นายกฯบอกว่ากำลังอยู่ในขั้นตอน คาดว่าเร็วๆนี้จะได้เห็น

หลุมดำใหญ่จากภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่มีสภาพคล่องทางการเงินระดับต่ำมากหรือที่เรียกกันว่าสายป่านสั้น แม้ที่ผ่านมา ธปท. จะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การปรับลดค่างวด การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างๆ รวมไปถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่มีบางธุรกิจเข้าถึงบ้าง เข้าไม่ถึงบ้างก็ตาม ถึงเศรษฐกิจจะกลับมาเปิด แต่การกลับมาฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจแต่ละพื้นที่รายเมืองรายจังหวัดรายภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน  สภาพแต่ละลูกหนี้ฟื้นได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เท่ากันด้วย  แต่ขณะนี้มาตรการเหล่านี้กำลังทยอยครบกำหนดช่วง”พัก”แล้ว หลังจากนี้ไปคือการเจรจาเป็นรายกรณีใครจะได้ไปต่อให้โอกาสดำเนินธุรกิจในข้างหน้า หรือใครจะถูกคัดออกมาอยู่กลุ่ม ICU แล้วเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ตามกฏหมาย  คงต้องเตรียมรับสภาพกันไป และนี่คืออีกความเสี่ยงใหญ่ในประเทศ ที่ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางตามไปด้วย

สภาพความยากลำบากในการทำธุรกิจในขณะที่การระบาดโควิด-19 ยังไม่สงบ และมีแนวโน้มชัดเจนว่าทั่วโลก และประเทศเพื่อนบ้านของไทยกำลังเผชิญการระบาดรอบสอง ซึ่งแน่นอนว่าไทยต้องเผชิญความเสี่ยงยากหลีกเลี่ยง  แต่ปัญหาเศรษฐกิจหดตัวบีบคั้น ให้รัฐบาลตัดสินใจ เดินหน้าการเปิดประเทศเฉพาะจุด เฉพาะกรณีในเชิงทดลอง  ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจมีความหวัง ขณะที่ภาคธุรกิจต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว จึงหวังผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ขยายเวลาการพักชำระหนี้  พร้อมเปิดช่องสร้างสภาพคล่องด้วย “ซอฟท์โลน”ก้อนใหม่

ธปท.เร่งหารือเวลาพักหนี้คาดทำได้ 1 ปีพิจารณาเป็นรายเซ็กเตอร์

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังพิจารณาขยายเวลาการพักชำระหนี้เป็นรายกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นโรงแรมออกไปเป็น 6 เดือนสองครั้งจนถึงสิ้นปี 2564  การปรับโครงสร้างหนี้ธปท.ยังทำต่อเนื่อง เพราะบางธุรกิจมีปัญหาไม่รู้กระแสเงินสดเนื่องจากไม่สามารถคาดการได้ก็จะยืดการชำระหนี้ออกไป  หากธุรกิจรายได้มีความพร้อมก็จะลงทุนเพิ่ม ซึ่งก็จะมาขอสินเชื่อเพิ่ม  สำหรับสินเชื่อซอฟท์โลนที่มีวงเงินอยู่ แต่พบว่าแม้มีหลักประกันคุ้ม แต่ไม่ต้องการสร้างหนี้เพิ่ม เนื่องจากยังไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ทำให้ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้สายการบินว่า อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะถ้าช่วยเหลือสายการบินต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ เพราะจะเป็นการเอื้อเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

กระทรวงการคลังพิจารณาเกณฑ์ปล่อยซอฟท์โลนให้ตรงผู้ที่สมควรได้และทันเหตุการณ์

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กรณีที่บรรดาสายการบินในประเทศเสนอขอให้รัฐบาลจัดตั้งเงินกู้ซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น คงต้องรอให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพราะต้องยอมรับว่าโควิด-19 กระทบต่อการเดินทาง ซึ่งการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแบบระยะยาวเข้ามาในประเทศ บนเงื่อนไขเข้มงวดตรวจป้องกันโรคนั้น ก็จะช่วยทำให้เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการได้แนวทางหนึ่งอยู่แล้ว  มองว่ายังคงต้องคุมเข้มเกณฑ์การปล่อยซอฟท์โลน เพื่อป้องกันการกู้หนี้ไปโปะหนี้เดิม มากกว่านำไปลงทุน ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว  แนะให้ใช้การเจรจาพักหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจการบินของไทยส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะย่ำแย่ โดยเฉพาะสภาพคล่องที่ไม่แข็งแรง ทางกระทรวงการคลังได้ข้อมูลเพิ่มเติมอย่างเป็นปัจจุบันและอยู่ในระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป