หมอวรงค์นำยื่นศาลรธน.แล้ว ร่วมป้องกันนักเลือกตั้ง ทำลายสิทธิปชช.

1673

จากที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี แถลงถึงการลักไก่กันในสภาฯ โดยสมาชิกรัฐสภาได้ดำเนินการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวไปสู่บัตร 2 ใบ โดยใช้กระบวนการฉ้อฉล เร่งรีบ ไม่รอบคอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้โดยหมอวรงค์ ระบุว่า หัวใจสำคัญของประชุมใหญ่รัฐสภาอนุมัติให้รับหลักการในวาระแรกเพียงสองมาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 แต่ลักไก่เพิ่มมาตรา 86 เข้ามา ดังนั้นจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่กำหนดไว้ว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนมาร่วมกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนที่จะถูกนักการเมืองทำลายทิ้งผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 28 กันยายน เวลา 09.30 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ”

ล่าสุดวันนี้ 28 กันยายน 2564 หมอวรงค์ พร้อมแกนนำพรรคไทยภักดี และมวลชนจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันยื่นหนังสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดเผยสรุปคำร้องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า

1.ขัดหลักการ

หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่มาลักไก่แก้ถึง 3 มาตรา ด้วยการเพิ่มแก้มาตรา86 เพิ่มขึ้น จึงเป็นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ขัดหลักการ เป็นการแก้เกินกว่าหลักการ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

2.ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2.1 ปัญหาการเลือกตั้งในอดีต เคยผ่านระบบบัตรสองใบมาแล้ว ทำให้ส.ส. ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน แต่กลายเป็นตัวแทนพรรคการเมือง และนายทุนพรรค เป็นระบบผู้ชนะกินรวบ ตัดคะแนนผู้แพ้ทิ้ง

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ต้องการให้คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย แม้ไม่ได้รับการเลือกตั้งส.ส.ในระบบเขต ก็ยังสมารถนำคะแนนไปคิดที่นั่งส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย การแก้สู่ระบบบัตรสองใบ จึงขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2.2 การใช้คำว่าบัตรเลือกตั้ง

ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช้คำว่า”บัตรเลือกตั้ง” เพราะถ้าคำนี้ในรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าต้องบังคับพิมพ์บัตรเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีเจตนาใช้คำว่า”คะแนน” หรือ “คะแนนเสียงเลือกตั้ง” แทน

ด้วยวิธีนี้ หากในภายหน้ามีวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยวิธีอื่นใดนอกจากวิธีใช้“บัตรลงคะแนน” ก็จะสามารถปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้สอดคล้องกันได้ โดยไม่เป็นการขัดต่อ รัฐธรรมนูญ

3.ขัดรัฐธรรมนูญ

3.1 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

ที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญ2560 ที่ใช้บัตรใบเดียว ได้ผ่านการสอบถามประชาชนมาก่อนแล้ว มีประชาชนสนับสนุนระบบนี้สูงถึง 77.6% แต่การแก้ไขครั้งนี้ ไม่มีการสอบถามประชาชน หรือประชาพิจารณ์ใดๆเลย

3.2 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ที่กำหนดให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน แต่การแก้ไขไปสู่ระบบบัตรสองใบ กลับให้มีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เท่ากับมีการลงได้สองคะแนน

3.3 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่กำหนดให้ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัย

ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม เน้นการพยายามทำให้คะแนนทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย คะแนนที่ประชาชนเลือกทุกพรรคการเมืองจะต้องถูกนำมาคิดจัดสรรที่นั่งในสภา โดยทุกคะแนนที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้ง) จะนำไปรวมเป็นคะแนนของพรรคการเมืองที่ส่ง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

ระบบการเลือกตั้งแบบใช้บัตรสองใบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ นายทุนเจ้าของพรรค ครอบงำ พรรคการเมือง ธุรกิจการเมืองกำลังกลับมา ไม่เคารพเสียงของประชาชน 16.8 ล้านสภาผู้แทนราษฎร

การที่ รัฐสภา ดำเนินการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ไปสู่ ระบบบัตรสองใบ แยกเป็น ส.ส.เขต และ บัญชีรายชื่อ จึงนำไปสู่ ระบบผู้ชนะกินรวบ คะแนนผู้แพ้ถูกทิ้งน้ำ เป็นการทำลายสิทธิเลือกตั้ง ของประชาชน ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบจัดสรรปันส่วน