บีทีเอสส่งหนังสือถึง 7 หน่วยงานรัฐ ย้ำเกณฑ์ประมูลคัดเลือก”สายสีส้ม”ต้องยึดมติครม. ที่ถูกต้องใหตัดสินผู้ชนะที่ราคา ยันเดินหน้าคัดค้านและโต้แย้งหากใช้คะแนนเทคนิครวมกับราคา ชี้คดีฟ้องรฟม.และกก.คัดเลือก 7 คน ศาลปกครองยังพิจารณาไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ยังมีศาลอาญาคดีทุจริต และปปช.คาผลพิจารณาอยู่
รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือไปยัง 7 หน่วยงานรัฐได้แก่ สำนักงบประมาณ, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคมในคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในคณะกรรมการคัดเลือก, ประธานคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักอัยการสูงสุดในคณะกรรมการคัดเลือก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือก อีกเป็นครั้งที่ 3 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็น “การดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม”
ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนให้ได้ผู้ชนะการคัดเลือกที่ถูกต้องนั้น รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บริษัทจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง 7 หน่วยงานรัฐว่า กระบวนการประกวดราคาของโครงการฯ ต้องเป็นเป็นตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 และกระบวนการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการประมูลเดิม (เกณฑ์ประมูลที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป และใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และนำมาสู่การเสนอร่างประกาศเชิญชวน ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้หากคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือก ด้วยการใช้คะแนนจากซองเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา
ทางบริษัทฯ ขอโต้แย้งและคัดค้าน เพราะคดีที่ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการคัดเลือก รวมถึงเจ้าพนักงานที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 7 คน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองและยังไม่สิ้นสุด และศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่ามิให้ใช้บังคับ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายมาตราใดกำหนดให้ดำเนินการดังเช่นว่านั้นไว้ บริษัทฯจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการดำเนินการโครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีความโปร่งใสและนำไปสู่การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
ทบทวนข้อพิพาทที่ยังคาศาล ทั้งศาลปกครองกลางและศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ
วันที่ 3 กพ.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติยกเลิกการประมูล เพื่อเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่ หวังเป็นการยุติความขัดแย้งและเร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้เดิม โดยไ่ม่ยอมรับว่าการเปลี่ยนเกณฑ์จากเดิมเป็นเกณฑ์ใหม่นั้นไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายและขัดมติครม. และ ข้อเท็จจริงยังมีคดีค้างคาศาลปกครอง และศาลอาญาทุจริตฯ ต้องรอคำพิพากษาตัดสินของศาลจึงถือเป็นสิ้นสุด
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามคำร้องของ รฟม.
ทางรฟม.จึงถือเรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการเดินหน้าประมูลต่อและยืนยันว่า ที่ทำมาทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมายเพราะมีอำนาจดำเนินการได้และยังยืนยันว่า ใช้เกณฑ์ใหม่เทคนิค+ราคา= 70%+30% เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมไม่สนใจว่า ประเด็นความไม่ชอบธรรมของเกณฑ์ใหม่นี้ยังไม่ได้ข้อสรุปโดยศาลเป็นที่สิ้นสุด ขัดสายตาของสาธารณชนที่ข้องใจในความโปร่งใสที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เกณฑ์ใหม่อาจเอื้อเอกชนบางราย??
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัท BTS ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ
วันที่ 2-16 มีนาคม 2564 รฟม. ยังคงเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างประกาศเชิญชวนหรือTOR ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ฉบับใหม่ต่อไป แต่ยืนยันเกณฑ์ใหม่เทคนิค-ราคา=70/30 เหมาะสม
วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบรับไต่สวน BTS ยื่นฟ้อง
เปรียบเทียบหลักเกณฑ์การประมูล(TOR)ใหม่เจ้าปัญหากับหลักเกณฑ์เดิมที่ดีอยู่แล้ว ทำไมรฟม.จึงยืนยันว่าต้องการใช้เกณฑ์ใหม่ทั้งที่มีแต่เสียงค้าน?
เกณฑ์เดิม-ผู้เสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก เอกชนจะยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ดังนี้
ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ คณะกรรมการคัดเลือกจะประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติว่ามีครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 2 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป
ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค มีคะแนนเต็ม 100% แบ่งเป็น 5 หมวด ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 85% หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 3 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 3 เพื่อพิจารณาต่อไป
ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านผลตอบแทน ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล แล้วจึงเปิดซองที่ 4 ของผู้ชนะการประมูลต่อไป
ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ รฟม.
เกณฑ์ใหม่ดีจริงหรือ?
เกณฑ์ใหม่พิจารณาซองที่ 1 (คุณสมบัติ) เช่นเดียวกับเกณฑ์เดิม แต่พิจารณาซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) พร้อมๆกัน โดยให้คะแนนรวมซองที่ 2 และซองที่ 3 เท่ากับ 100% แบ่งเป็นคะแนนซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) 30% และคะแนนซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) 70% สำหรับคะแนนด้านเทคนิคนั้น รฟม.ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะได้คะแนนด้านเทคนิคต่ำเพียงใดก็ถือว่าสอบผ่านได้ถ้าคณะกรรมการคัดเลือกฯเห็นควรให้ผ่าน อีกทั้ง การให้คะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 30% เป็นการลดความสำคัญด้านเทคนิคลงมา ซึ่งขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ รฟม.ที่ต้องการใช้เกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าจะทำให้ได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง เหมาะสมกับงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และจุดนี้เป็นช่องว่างที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เป็นการเปิดช่องให้คณะกรรมการใช้ดุลพินิจเป็นสำคัญหรือไม่ เอื้อเอกชนบางกลุ่มหรือไม่??
อย่างไรก็ตามการขับเคี่ยวยืนยันข้อเท็จจริงยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นแม้รฟม. และกระทรวงคมนาคมจะยืนยันเดินหน้าให้ได้ทั้งที่ยังไม่เคลียร์ข้อสงสัยนี้ ทั้งศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ ปปช. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องคงไม่ปล่อยให้มีการใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เป็นบทพิสูจน์ธรรมาภิบาลของการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริง เรื่องนี้จะส่งต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลุงตู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง