เป็นเรื่อง“เรืองไกร”พบร่างรธน.ขัดแย้งกันเอง! วรงค์เตือนนายกครั้งสุดท้าย

1966

จากที่วันนี้ 23 กันยายน 2564 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผย ตามที่รัฐสภาลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้น

ทั้งนี้นายเรืองไกร ระบุว่า เมื่อมาตรวจสอบพบว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อาจมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิมบางมาตรา จากเดิมที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)  เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา91 ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย คือมาตรา85  มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 เพื่อให้สอดรับกันด้วย

“แต่ต่อมาวันที่ 24 ส.ค. ประธานกมธ.ฯได้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับวันที่  13 ส.ค. โดยตัดมาตรา 85  มาตรา 92 มาตรา 94 และมาตรา 105  คงมีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา91 เท่านั้น เมื่อรัฐสภาลงมติวาระสามไปแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 13 ส.ค. กรณีจึงมีปัญหาตามมาว่า บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 24 ส.ค. ยังมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิมบางมาตรา เช่น มาตรา92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105กรณีที่บทบัญญัติใหม่ ขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิม

จะเห็นได้จากการนำความตามบทบัญญัติ มาตรา83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ไปแทนที่ของเดิม แล้วจะพบว่าบทบัญญัติทั้งสามมาตรา ไม่สอดรับกับมาตราเดิม คือมาตรา 92 มาตรา 93มาตรา94  และมาตรา 105 ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันในเนื้อกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญ”

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวว่า กรณีที่ร่างกฎหมายขัดแย้งกันนั้น เคยมีในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2550 มาแล้ว เช่น ตามรายงาน สนช. ครั้งที่ 64 วันที่ 14 พ.ย.2550 ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ยังต้องนำลงมติให้นำกลับมาทบทวนตามความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดังนั้นกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระสามแล้วนั้น มีข้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งกัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติจึงไม่ควรมีความขัดหรือแย้งกัน เมื่อพบว่า มีความขัดหรือแย้งกัน ก็ควรมีการทบทวนแก้ไข และยังไม่ควรจะมีการส่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

“ดังนั้นตนจึงได้ไปส่งหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ กับเก่าที่มีความขัดแย้งกัน โดยได้ยื่นหนังสือแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตามเลขรับที่แจ้งมาด้วยแล้วนอกจากนี้ยังได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (2) ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ อีกทางหนึ่งด้วย” นายเรืองไกร กล่าว

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ก็ได้กล่าวถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กด้วยว่า

“#เตือนลุงตู่ครั้งสุดท้ายกรณีรัฐธรรมนูญลักไก่

การที่ลุงตู่ จะตัดสินใจนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถึงความความถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 148(2) กรณีการลักไก่แก้รัฐธรรมนูญ จะเหลือแค่วันเดียวเท่านั้น เพราะวันศุกร์ที่ 24 ก.ย.นี้ เป็นวันหยุดกรณีพิเศษ

ขอเตือนท่านด้วยความห่วงใย อย่าไปฟังที่ปรึกษากฎหมายที่ฉ้อฉล แม้แต่นักการเมืองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ อยากให้ท่านดูดี มีภาวะผู้นำในการตัดสินใจ ที่สำคัญขอแง้มให้ท่านทราบด้วยว่า ไม่อยากให้ท่านต้องเสียหน้า

ที่ผ่านมาผมทำหนังสือถึงท่าน ไม่มีอะไรที่ทำให้ท่านต้องเสีย มีแต่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ผมหงายหน้าไพ่ให้ท่านขนาดนี้ ถ้าท่านนิ่งเฉย ตีโจทย์ไม่แตก ช่วยไม่ได้นะครับ”