กระทรวงการคลังเผยบอร์ดนโยบายการเงินการคลัง อนุมัติขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% จากเดิม 60% ของจีดีพีแล้ว มั่นใจฐานะการเงินการคลังแข็งแกร่ง แนวทางสร้างรายได้ชัดเจนมีความสามารถชำระหนี้ได้
วันที่ 20 ก ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็นต้องไม่เกิน 70%
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
นายอาคม กล่าวว่า “การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่าง ๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี”
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง รายงานหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มียอดหนี้จำนวน 8,909,063 ล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 8,825,097 ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี เป็นการเพิ่มทั้งจำนวนหนี้และสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการกู้เพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2564 ที่มีกรอบการกู้อยู่ที่ 608,962 ล้านบาท และการกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดที่มีการกู้ไปแล้ว 817,726 ล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท และต้องกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ ซึ่งทำให้เสี่ยงเพดานหนี้สาธารณะจะเกินกรอบที่กำหนดไว้ 60%
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบขยายกรอบเพดานหนี้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่อรองรับการกู้เงินจาก พ.ร.ก.โควิด 1 ล้านล้านบาทในส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมถึงการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เห็นขอบการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 3 โดยให้มีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท จากเดิม 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 7 แสนล้านบาท และกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาททั้งหมด
ทำให้สัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะที่คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58% ของจีดีพี และคาดว่าปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะเกิน 60% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลต้องขยายกรอบเป็น 70% ของ จีดีพี
ก่อนหน้านี้ นายอาคมฯ ได้กล่าวถึง การยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า การที่ประเทศมีหนี้จากการกู้เงินในจำนวนที่สูงมากท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเช่นกัน ต้องใช้เครื่องมือทางการคลังให้เป็นประโยชน์ในภาวะที่นโยบายการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่นัก
นอกจากนี้ มองว่าตลาดทุนของไทยยังมีโอกาสดี หุ้นไทยไม่ได้แย่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงยังมองเห็นการฟื้นตัวได้ในอนาคต ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีที่จะเป็นดาวรุ่งได้ จะต้องคำนึงถึงทิศทางของประเทศว่าจะก้าวไปทางไหน ซึ่งต้องดูแนวนโยบายของรัฐบาลควบคู่ไปด้วย
“ทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ถ้ากู้เยอะ แล้วหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น แต่หากรายได้ไม่เพิ่ม ก็แน่นอนว่าต้องเป็นหนี้เป็นสิน ดังนั้นความสามารถในการหารายได้ เรามีโอกาส เช่น โครงการในอีอีซี โครงการที่เป็น new S curve ซึ่งทิศทางที่ธุรกิจไทยจะเติบโตไปในอนาคตได้ ต้องคำนึงถึงใน 3 ด้าน คือ ไบโอชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเหล่านี้ จะถือเป็นโอกาสของเราทุกคน” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2564 ที่ขยายตัวได้ 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบรายไตรมาส จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะยังไม่ฟื้นตัวได้แข็งแรงมากนักก็ตาม แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่จะกลับมาดีขึ้น โดยเชื่อว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังอยู่กับประเทศไทยต่อไปอีก เพียงแต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วย ส่วนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ