นายกรัฐมนตรีลั่นเดินหน้าไทยเข้มแข็ง สั่งทุกหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจเร่งทำงานและเบิกจ่ายงบประมาณเต็มวงเงิน เป็นแรงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ชี้ยามนี้ภาครัฐเป็นกำลังหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะกระทรวงการคลังเปิดตัวเลขหนี้ใกล้แตะ 9 ล้านล้านบาท จ่อเต็มเพดาน 60%ต้นปีหน้า เตรียมมาตรการทางการเงินการคลังรับมือ พร้อมเพิ่มช่องทางรายได้ของประเทศ
วันที่ 12 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ในระหว่างลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ถึงการผลักดันโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าโครงการดังกล่าวเป็นระดับนโยบาย ถ้านโยบายยังมีอยู่ก็ดำเนินต่อ โดยต้องรู้ว่ามีข้อติดขัดตรงไหน และจะเดินหน้าต่ออย่างไร ส่วนงบประมาณดำเนินงานมีอยู่แล้ว ให้เร่งรัดดำเนินงานและเบิกจ่ายให้ครบตามกรอบเวลา
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดือนก.ย. เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการทั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และในที่ประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้ทุกหน่วยรับงบประมาณทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
“ในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 งบประมาณภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ และขณะนี้เป็นช่วงท้ายปีงบประมาณนายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งการเบิกจ่าย ทั้งส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง งบจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติและทำสัญญาผูกพันไปแล้ว เพื่อให้งบประมาณเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฉบับแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2564 มีการอนุมัติแล้วใน 269 โครงการ วงเงินรวม 996,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 99.60 คงเหลือ 3,991.06 ล้านบาท
มีการเบิกจ่ายแล้ว 841,307 ล้านบาท หรือร้อยละ 84.47ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติแยกเป็นการเบิกจ่ายใน
1)เบิกจ่ายตามแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข กรอบวงเงิน 63,898 ล้านบาท จำนวน 51 โครงการ 38,069 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 59.58
2)เบิกจ่ายตามแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ กรอบวงเงิน 708,197 ล้านบาท จำนวน 20 โครงการ 684,411 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 96.64 และ 3)แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 227,905 ล้านบาท จำนวน 225 โครงการ 118,827 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.07
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า
“การประชุมครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กำกับติดตามหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากในกรณีที่เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้เร่งจัดทำรายงาน ปัญหาและอุปสรรคเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ทราบต่อไป”
ขณะที่เว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 พบว่ามียอดหนี้ 8,909,063.78ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย.2564 อยู่ที่ 8,825,097.81 ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี
สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค.2564 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,836,723.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2564 ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 7,071,423.29 ล้านบาท เป็นการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 จำนวน 817,726.05 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกด้วย
ด้านรมต.กระทรวงการคลังตอบรับ เร่งการเบิกจ่ายส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ คาดว่าทำได้เกิน 90% ของวงเงินรวม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย ยืนยันชัดเจน แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเบิกจ่ายที่ผ่านมาทำได้ดี ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี ประกอบกับ ภาคการส่งออกที่ยังมีอัตราขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่กลับมาคึกคัก ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย
“การบริโภคภายในประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก เนื่องจาก รัฐบาลมีการคลาย ล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นได้จากในช่วง 5-6 วันที่ผ่านมา ผู้บริโภคเริ่มออกไปเดินห้าง นั่งรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการคลายล็อกดาวน์ในขั้นถัดไป ก็มองว่า จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นกลับมาแน่นอน”
ส่วนกระทรวงการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศหรือไม่นั้น นายอาคม ตอบว่า จะต้องรอเวลาที่เหมาะสม เพราะขณะนี้ รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น ที่กำลังดำเนินอยู่จนถึงสิ้นปี 2564 และในอีก 20 วันข้างหน้า หรือ วันที่ 1 ต.ค.2564 โครงการคนละครึ่งก็จะมีเม็ดเงินงวดใหม่เข้าอีกคนละ 1,500 บาท
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า สำหรับโครงการคนละครึ่ง ล่าสุด มียอดใช้จ่ายรวม 64,112 ล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิ 26.86 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มียอดใช้จ่ายรวม 1,919 ล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิ์มากกว่า 470,766 คน