จากที่วันนี้ 11 กันยายน 2564 เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความพร้อมแบนเนอร์ถึงคดีของอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ไม่ได้รับการประกันตัว และยังถูกแจ้งข้อหาความผิดมาตรา 112 เพิ่มไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง!?!
ทั้งนี้โดยศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า วันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขัง “อานนท์ นำภา” เป็นครั้งที่ 4 ในคดีจากการปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยหลังการไต่สวน ศาลได้อนุญาตฝากขัง ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 5 แต่ศาลยังไม่ปล่อยชั่วคราว
ทนายความยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใน 3 คดี เป็นครั้งที่ 4 ได้แก่ คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง, คดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งศาลเคยให้ประกัน และถอนประกันเมื่อ 11 ส.ค. ต่อมาทั้งสองศาล มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้โพสต์ข้อความเปิดเผยถึงกรณีของนายอานท์ อีกว่า
วันที่ 8 กันยายน 2564 พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาหมิ่นกษัตริย์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (3) จาก 2 โพสต์เฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10
พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา สารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์ให้อานนท์ทราบผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง โดยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วย โดยมีเนื้อหาบางช่วงระบุว่า
ได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ “อานนท์ นําภา” มีการลงเผยแพร่ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ 3 ก.พ. 2564 จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
โพสต์ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ประกอบ 2 โพสต์ คือ วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 21.42 น. และ วันที่ 3 ก.พ. 2564 เวลา 20.25 น.
พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”
เบื้องต้นอานนท์รับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว และเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่ปฏิเสธว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต และต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตย โดยจะทำคำให้การในประเด็นอื่นเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน พร้อมทั้งระบุพยานเอกสารและพยานบุคคล
อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า อานนท์ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 14 แล้ว ทั้งหมดถูกดำเนินคดีหลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งอานนท์ได้เริ่มปราศรัยในที่สาธารณะถึงประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ก่อนจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยคดีทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมต่างๆ รวม 11 คดี และจากการโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นดังกล่าวอีก 3 คดี
สำหรับกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี