เยอรมนีเปลี่ยนขั้วอำนาจ!?! พรรคฝ่ายซ้ายตั้งรัฐบาล สะเทือนสัมพันธ์จีน-รัสเซีย??

1429

ผลอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของเยอรมนี ปรากฏว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย(SPD) พรรคกลางซ้ายชนะการเลือกตั้งแห่งชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 แม้จะได้มาอย่างฉิวเฉียด แต่ทำให้ได้เปรียบในการตั้งต้นเป็นผู้รวมพรรคอื่นๆเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เป็นที่จับตามองจากทั่วโลกว่า เมื่อเยอรมนีเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นกลุ่มที่มีแนวนโยบายตรงข้ามกับ พรรคเดิมของนางอังเกลา แมร์เคิล เยอรมนีจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร  ทั้งด้านความสัมพันธ์กับจึน-รัสเซีย สหภาพยุโรป ในขณะที่สหรัฐได้ปักธงต้านจีนอย่างชัดเจน และพรรคที่เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลล้วนแสดงท่าทีเข้มงวดต่อจีน-รัสเซียอย่างออกนอกหน้า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564ว่า ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามรายงานโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของเยอรมนี จากผลคะแนนที่ทยอยส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้ง 299 เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ที่มีจุดยืนแนวกลาง-ซ้าย ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด คิดเป็น 25.9% 

ตามด้วยพันธมิตรพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU) กับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วน 24.1% ขณะที่พรรคกรีนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรค คือ 14.6% และพรรคประชาธิปไตยเสรี ( เอฟดีพี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายนักลงทุน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดว่วน 11.5% โดยผลคะแนนสอดคล้องกับเอ็กซิตโพลที่รายงานทันทีหลังการปิดหีบเลือกตั้ง

ส่วนจำนวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ อยู่ที่ประมาณ 46.8 ล้านคน คิดเป็น 76.6% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 61.1 ล้านคน และเป็นการออกมาลงคะแนนเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2560

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า พรรคSPDและพันธมิตรพรรคCDU/CSU จะยังคงจับมือกันในนาม “รัฐบาลผสมใหญ่” ต่อไปหรือไม่ โดยทั้งสามพรรคจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 แต่หลายฝ่ายวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสะท้อน “ความต้องการเปลี่ยนแปลง” ของประชาชน จึงเป็นไปได้สูงที่ พรรคGREENและพรรคFDPจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล

ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุดของเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางเศรษฐกิจของสองประเทศถูกจับตามอง และตรวจสอบมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่“แองเกลา แมร์เคิล”นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ใกล้จะพ้นวาระการเป็นผู้นำประเทศ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเยอรมนีเริ่มสั่นคลอนมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งเยอรมนีมีการเผชิญหน้ากับจีนบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน การแทรกแซงการเมืองในฮ่องกงซึ่งเป็นแนวทางที่ตอบสนองจุดยืนของวอชิงตัน  และความกลัวเรื่องการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมในภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ทำให้เยอรมนีเริ่มมองทางเลือกอื่น

เทเรซา ฟัลลอน ผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่อการศึกษาเอเชีย ยุโรปและรัสเซีย กล่าวว่า “แมร์เคิลและจีนเติบโตทางธุรกิจและการค้ามาด้วยกัน ทั้งๆที่ทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันอยู่มาก ตอนนี้ แมร์เคิลเตรียมอำลาเส้นทางการเมืองเพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาคือการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการค้าที่มีต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งจีนด้วย”

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นตีพิมพ์เมื่อเดือนส.ค.ของฟอร์ซา พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลปักกิ่งและปกป้องผลประโยชน์ของชาวเยอรมนี ส่วนบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการอำลาเส้นทางการเมืองของแมร์เคิลจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่แก่ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและจีน                 

นีลส์ ชมิดท์ โฆษกกิจการต่างประเทศของพรรคโซเชียล เดโมเครติก มีความเห็นว่าเยอรมนีต้องเปลี่ยนนโยบายที่ดำเนินกับจีน ส่วนพรรคกรีนแสดงออกอย่างชัดเจนที่จะดำเนินนโยบายเข้มงวดกับจีนโดยเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัลของเยอรมนีจากอิทธิพลของจีน

สื่อตะวันตกบางคนเชื่อว่ายุโรปในยุคหลังแมร์เคิลจะเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ และเยอมนีก็อาจเป็นเช่นนั้นข้อตกลงการลงทุนระหว่างจีน-สหภาพยุโรปอาจเป็นไปไม่ได้ แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่ประเทศในสหภาพยุโรปหลักๆ ซึ่งไม่พอใจกับการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างไร้ความรับผิดชอบ และรู้สึกว่าพวกเขาถูกแทงข้างหลังหลังจากสหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญา AUKUSกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย จะทำให้ยุโรปยังคงรักษาระยะห่างจากสหรัฐอเมริกา สำหรับเยอรมนี คงต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลอีกระยะหนึ่ง เพราะฝุ่นยังตลบ และนางอังเกลา แมร์เคิลยังคงต้องรักษาการไปจนกว่า จะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ