กัมพูชาจัดประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขง GMS ครั้งที่7!?! ไทยเข้าร่วมเน้นเชื่อมโยงเศรษฐกิจควบคู่สาธารณสุข

1252

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานการประชุมสุดยอดทางไกล ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ จีเอ็มเอส (Greater Mekong Subregion : The 7th GMS Summit) ครั้งที่ 7 

 

วันนี้วันที่ 9 ก.ย. 2564 หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ของกัมพูชา รายงานว่า การประชุมสุดยอดเสมือนจริง จีเอ็มเอส ในวันพฤหัสบดี ภายใต้หัวข้อ “Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade” หรือ เสริมพลังเผชิญความท้าทายในทศวรรษใหม่ จะมีผู้นำของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศเข้าร่วม รวมถึง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน รวมทั้งผู้นำจาก​ สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

การประชุมสุดยอด จีเอ็มเอส ครั้งที่ 7 จะมีการทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือ นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่เวียดนาม นอกจากนั้นยังจะมีการกำหนด แผนดำเนินงานในอนาคต และทิศทางความพยายามของกลุ่ม ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ด้วยความสนับสนุนจากเอดีบี

จะเน้นความสำคัญ ในหลายโครงการคุณค่าสูง ทางด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน การสื่อสารโทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุนภาคเอกชน และการเกษตร

ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “GMS : พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” (GMS: Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade)

ในการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสให้ไทยย้ำบทบาทและความร่วมมือในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด 

ประเทศไทยจะได้เน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศสมาชิก ตลอดจนนักลงทุนต่างชาติ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างอนุภูมิภาค และโลก การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาค จากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

ในการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 นี้ จะได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ 

  1. ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นํา 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน) ผ่านการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เท่าเทียม เปิดกว้าง ครอบคลุม ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลสำเร็จของแผนงาน GMS ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อาทิ (1) การเชื่อมต่อด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนความยาวกว่า 11,000 กิโลเมตร (2)การขนส่งข้ามพรมแดนด้วยขั้นตอนที่เรียบง่าย และ (3)การมีระบบตรวจจับและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ รวมทั้งการรับรองกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2564-2566

  1. ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 เป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอนุภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น (1) การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างครอบคลุม (2)การยกระดับแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ และ (3)การสนับสนุนการมีส่วนร่วมและสร้างเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่ปรับปรุงได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

3. ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564-2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือของประเทศสมาชิกในประเด็นที่ต้องอาศัยการบูรณาการในระดับอนุภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในระยะเร่งด่วน คือ มุ่งควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิต สนับสนุนโครงการฉีดวัคซีน และลดผลกระทบต่อกลุ่มประชากรยากจนและกลุ่มเปราะบาง