ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระดับต่างๆ เพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่มีรายได้ไม่มั่นคง หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้เข้าถึงแหล่งทุน โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งการกู้หนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม และยังได้ติดตามการปราบปรามเจ้าหนี้ผิดกฎหมาย ที่ปัจจุบันพบธุรกิจปล่อยกู้ออนไลน์ คิดดอกเบี้ยโหด ทวงหนี้ผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางตำรวจได้เข้าจับกุมและดำเนินการเอาผิดทั้งกระบวนการ อีกทั้ง เมื่อ เม.ย ที่ผ่านมา ได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 เพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมแล้ว
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยความคืบหน้าโดยจับมือกับพิโกไฟแนนซ์พักชำระเงินต้น ผ่อนเกณฑ์สินเชื่อรายย่อย พร้อมๆกับปราบเจ้าหนี้โหด
นอกจากการดำเนินการทางกฎหมายเอาผิดเจ้าหนี้โหด ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องเจรจาแก้หนี้ประชาชน อีกทั้งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการเพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่จะถูกผลักไปเป็นหนี้นอกระบบ
ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของ สศค. ให้ประชาชนทั้งผู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ให้กับลูกหนี้
ที่ได้ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วยการลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวด การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย
โดยในเดือน มิ.ย. 64 มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แจ้งเข้าร่วมมาตรการ จำนวนทั้งสิ้น 288 ราย คิดเป็นจำนวนบัญชีที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งสิ้น 9,807 บัญชี
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ในระบบก็ดำเนินไปพร้อมๆกัน สำหรับรายย่อย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มการผ่อนเกณฑ์ “สินเชื่อลูกหนี้รายย่อย” ทั้ง สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายหนี้ รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้เป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย
1) ขยายเพดานวงเงิน “บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็น 2 เท่าของรายได้ จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดจำนวนผู้ปล่อยสินเชื่อ จากเดิมไม่เกิน 3 ราย
2) คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้าเหลือร้อยละ 5 ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565
3) ขยายเพดานวงเงิน “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” เป็น 40,000 บาทต่อราย จากเดิม 20,000 บาทต่อราย และขยายเวลาการชำระคืนจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน
โดยทั้ง 3 มาตรการ มีผลจนถึงสิ้นปี 65 ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคีแก้หนี้นอกระบบ ได้ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย นับตั้งแต่ต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือนก.ค. 2564 มีการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,773 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.จำนวน 177 ราย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
- ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344
สำหรับหนี้ในระบบของเอสเอ็มอีนั้น รัฐบาลมีนโยบายเร่งช่วยลูกหนี้รอดตายระยะยาว โดยธปท.กล่อมบรรดานายแบงก์หาแนวทางแก้หนี้แบบยั่งยืนซึ่งได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ขณะที่มีลูกหนี้ส่วนหนึ่งใช้วิธีแก้หนี้ด้วยการเลื่อนการชำระหนี้ออกไปเท่านั้น ซึ่งไม่ช่วยให้กลับมาชำระหนี้ได้ แต่จะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังมีลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี จะเริ่มใช้เกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูใหม่ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีได้วงเงินสินเชื่อง่ายขึ้น และสูงขึ้นจากเดิมมากคือ
1.ขยายวงเงินสินเชื่อให้ SMEs รายใหม่ เพิ่มเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท และ SMEs รายเดิม จากเดิมไม่เกิน 30 %ของวงเงิน เปลี่ยนเป็น 30% ของวงเงินสินเชื่อคงเหลือ หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท
2.เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ตั้งแต่ 6 ก.ย.64
นายรณดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ ธปท.ต้องการเห็นคือการแก้หนี้อย่างยั่งยืน จึงได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว แทนการเลื่อนชำระหนี้ออกไป
โดยขอให้มีการออกแบบเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ (Product Program) ที่เหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มธุรกิจ หรือในแต่ละรายอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นไปได้จริงตามฐานะการเงินในขณะนี้ และในอนาคต เช่น ในช่วงแรกจ่ายแบบขั้นต่ำให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้ง อาจปรับระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 3 ปี 5 ปี รวมทั้งลดดอกเบี้ย หรืออื่นๆ ตามความจำเป็นของลูกหนี้รายนั้นๆ รวมทั้งลดขั้นตอนด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการรับส่งเอกสาร และเจรจาเพื่อให้สามารถเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็วกว่าที่เป็นอยู่
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. ทั้งในเรื่องของ การเพิ่มสภาพคล่อง หรือแนวทางการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้แก้ปัญหาหนี้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน