ล้มประมูลแค่ยกแรก-ข้อพิพาทไทยคม7,8 ยังไม่จบ!?! เดิมพันผลประโยชน์หมื่นล้าน ใครปล้นสมบัติชาติกลางแดด!?

1609

เมื่อวานนี้ข่าวดีของคนไทยมาไวกว่าที่คิด เมื่อมติบอร์ดกสทช. ล้มประมูลดาวเทียม ที่จะใช้ระบบใบอนุญาตในวันที่ 28 สิงหาคมนี้แล้ว แต่ภารกิจของคนไทยยังไม่จบ 

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยมีมติให้กสทช. ออกใบอนุญาตที่ไม่มีกฎหมายรองรับ มอบให้ไทยคมไปแล้วเมื่อปี 2555 มีอายุ 20 ปี และจะหมดอายุในปี 2575 จึงเป็นที่มา ที่เขาเอาใบอนุญาตนี้ไปส่งไทยคม 7 และไทยคม 8 ขึ้นวงโคจรของชาติและไม่ยอมส่งคืนไทยคม 7 และ 8 ให้ประเทศไทย เรื่องนี้นพ.วรงค์เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี เดินหน้าเปิดโปงและยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้หยุดยั้งขบวนการงาบสมบัติชาติก่อนจะสาย เพราะช่วงเวลาเหมาะเจาะที่จะต้องมีการประมูลใหม่ก่อนจะยกให้เอกชนไปอีก 20 ปี คนไทยก็ต้องก้มหน้าทนให้เขาเอาเปรียบโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปอีกนาน

ปัญหาหลักคือ การเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน ไปเป็น การให้ใบอนุญาต แบบนี้แหละเขาเรียกว่าปล้นกลางแดด?? เพราะรูปแบบสัมปทาน ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐและพฤติกรรมการดำเนินต่างๆ จะดีจะเลวอย่างไรผู้ได้รับสัมปทานต้องรับผิดและชอบ  แต่ระบบ “ใบอนุญาต” ทรัพย์สินและสิทธิ์ในวงโคจรเป็นของเอกชน รัฐจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ แต่ถ้าทำชั่วทำเลวเกิดผลเสียหาย รัฐจะต้องรับผิดชอบเพราะไทยได้สิทธิ์ในวงโคจรในนามของรัฐบาลไทย เสียหายก็ต้องเอาภาษีของคนไทยไปแบกรับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ล้มประมูลไป ด้วยเหตุผลมีผู้มาประมูลแค่รายเดียวก็ยังไม่อาจวางใจ จนกว่า กฎเกณฑ์การประมูลจะเป็น “การให้สัมปทาน” และเปิดการประมูลอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนได้รับรู้

ด้านกรณีไทยคม 7,8 ยังไม่ส่งคืนให้รัฐเพราะยังไม่หมดอายุใบอนุญาตจึงเป็นที่มาของการต่อสู้ทางกฎหมายของ นพ.วรงค์ฯและทีมงาน ที่ยื่นฟ้องร้องยิ่งลักษณ์และพวกทุจริตดาวเทียม เนื่องจากเปลี่ยนสัญญาสัมปทาน เป็น ใบอนุญาตให้บริษัทฯที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง(ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม) โดยไม่มีอำนาจผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

หน้าที่คนไทย ต้องช่วยกันทวงไทยคม 7 และ 8 กลับมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะไทยคม 7 เขาเอาไปใช้ประโยชน์สมคบต่างชาติทำมาหากิน ในสมบัติของชาติ ทำให้ประเทศชาติเราเสียหายมากทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

มาดูข้อเท็จจริงเรื่องดาวเทียมไทยกันว่าที่มาที่ไปของปัญหาอยู่ตรงไหน?

โครงการประมูลดาวเทียมแห่งชาติ อยู่ภายใต้การดำเนินการของ กสทช. ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ถูกตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากล ในหลายประเด็นด้วยกันและข้อพิพาทกรณีบริษัทไทยคมไม่ส่งคืนดาวเทียมอ้างเป็นไปตามใบอนุญาต เป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องว่า ใบอนุญาตนั้นผิดกฎหมายหรือไม่?

ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7,8

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยจากสถาบัน MAST Centre คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ของ มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย อ้างว่ามีหลักฐานสำคัญที่เรากำลังจะสูญเสียสมบัติชาติในอวกาศหรือไม่ โดยระบุว่า ดาวเทียมไทยคม 7 นอกจากจะเป็นดาวเทียมนอกสัมปทาน ภายใต้ใบอนุญาตที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเป็นการนำดาวเทียมสัญชาติอื่น มาใช้ในวงโคจร ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทย ความจริงเป็นอย่างไร กสทช.ต้องแจง

เพราะรายงานของ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ปี 2016 และ ข้อมูลหมายเลขประจำตัวของวัตถุอวกาศ ระบุชัดเจนว่า ดาวเทียมไทยคม 7 หรือ Asiasat 6 เป็นของฮ่องกง มี สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง หมายเลข NORAD ID: 40141 ระบุว่าเป็นดาวเทียมของ “บริษัท Asia Satellite Telecommunications Co. Ltd.” ได้เข้ามาใช้วงโคจรของประเทศไทย และถูกนำไปใช้ในกิจการดาวเทียมของต่างชาติ และปัจจุบันนี้เป็นของใครกันแน่ที่ใช้วงโคจรนี้อยู่

ดาวเทียมไทยคม 8 หมายเลข NORAD ID: 41552 ดาวเทียมดวงนี้เป็นของ “ประเทศไทย”

ทำไมข้อมูลที่เป็นทางการในระดับสากลอย่าง NORAD ID ถึงต่างจากสิ่งที่บริษัทไทยคมนำเสนอต่อสังคมมาโดยตลอด? ใบอนุญาตนอกสัมปทานของดาวเทียมไทยคม 7, 8 เป็นใบอนุญาตที่ผิดกฎหมายหรือไม่?

ดาวเทียมไทยคม 7 ที่สมควรเป็นของประเทศไทย กลายเป็นดาวเทียมต่างชาติได้อย่างไร? ดาวเทียมไทยคม 8 ที่เป็นของประเทศไทยในทางสากล ถูกแอบอ้างว่าเป็นของบริษัทไทยคมได้ด้วยหรือ?

ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดาวเทียมของประเทศไทย ถูกบันทึกอยู่ในเว็บไซต์ https://www.itu.int/en/ties-services/Pages/login.aspx ซึ่งต้องอาศัย “ชื่อบัญชีผู้ใช้” และ “รหัสผ่าน” ลับเฉพาะในการเข้าถึง ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการผูกขาดสัมปทานดาวเทียมโดยบริษัทไทยคม มีอะไรซ่อนอยู่ประชาชนมีสิทธิ์รับรู้ กสทช.ต้องเป็นผู้เปิดเผยรายละเอียดเพื่อความบริสุทธิ์ ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน…” ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจึงเป็นเจ้าของกิจการดาวเทียมแห่งชาติร่วมกัน ตลอดจนมีสิทธิที่จะรับรู้รับทราบถึงรายละเอียดที่สำคัญ ในการดำเนินกิจการดาวเทียมทั้งหมด 

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาของการผูกขาดสัมปทานดาวเทียม ประชาชนไม่เพียงขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากแต่ไม่เคยได้รับรู้รับทราบถึงข้อมูลที่สำคัญอีกด้วย จึงทำให้เกิดช่องว่างและโอกาสที่อาจนำไปสู่ การฉ้อฉล อีกทั้ง เกิดข้อพิพาท ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่อถึงความไม่โปร่งใสและการแทรกแซงผลประโยชน์ของชาติโดยนักธุรกิจการเมือง

การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้เราสูญเสียสิทธิในอวกาศไปแล้วหรือไม่ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่าทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่ชอบมาพากลจาก การเมือง-การผูกขาดสัมปทาน เป็นเรื่องของ อำนาจอธิปไตย ของประเทศอีกด้วย

ข้อเสนอให้ยกเลิกการประมูล และนำกิจการดาวเทียมกลับมาเป็นสมบัติของประชาชน เป็นเรื่องของสิทธิในอวกาศ การรักษาสมบัติชาติ และรายได้ก็จะตกเป็นของคนไทยและประเทศไทย เป็นการคืนความเป็นเจ้าของอธิปไตยให้กับประชาชนอย่างแท้จริง!!