ธปท.ยันแบงก์ไทยสุดแกร่ง!?!ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากแบงก์พาณิชย์เป็นไปตามแผน ขณะแบงก์รัฐฝากแค่ไหน คุ้มครองเท่านั้น

1501

ฮือฮากันมากเมื่อแบงก์ชาติประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ คุ้มครองเงินฝากแค่ 1 ล้าน กระทั่งสื่อบางฉบับปั่นว่า แบงก์ไทยใกล้ล้ม พอข้อเท็จจริงเปิดเผยก็พากันหงายเงิบ เมื่อธปท.แจงปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก แต่ละแห่ง เหลือ 1 ล้านบาทเป็นไปตามแผนปกติ พร้อมยืนยันชัดว่าสถาบันการเงินไทยยังเข้มแข็ง โชว์ BIS Ratio ที่ระดับร้อยละ 20 สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคด้วย ก็ต้องทำใจหนอเพราะเราเลือกโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การลดคุ้มครองเงินฝากก็เพื่อจูงใจให้คนเอาเงินออมมาใช้ เพราะสถานการณ์การเงินบ้านเราเข้าประเภทเงินท่วมแบงก์ ทั้งเงินฝากเงินออม วงเงินกู้ที่รัฐบาลเตรียมช่วยธุรกิจต่างๆ  ถ้าไม่เจาะรูให้มีการนำเงินมาใช้ในการบริโภค และการลงทุน จะส่งผลให้เกิดการติดกับดักเงินเฟ้อได้ 

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA จะปรับลดการคุ้มครองเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละรายมีชื่ออยู่ในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เหลือ 1 ล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การลดวงเงินคุ้มครองฯ ดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการดำเนินการที่กำหนดไว้ โดยยังจะสามารถคุ้มครองเงินฝากได้ถึงร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ขณะที่สถาบันการเงินในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง จึงไม่จำเป็นต้องเลื่อนเวลาการปรับลดวงเงินดังกล่าวออกไปอีก

สำหรับ การปรับลดวงเงินเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ที่ทยอยปรับลดวงเงินจากการคุ้มครองเต็มจำนวนเป็นขั้นบันไดลงมา เพื่อให้ประชาชนมีเวลาปรับตัว

ปัจจุบันผู้ฝากแต่ละรายจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับการฝากเงินที่สถาบันการเงินแต่ละแห่ง นับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไป การคุ้มครองดังกล่าว จะลดลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

นายรณดล กล่าวอีกว่า การกำหนดระดับวงเงินคุ้มครองเงินฝาก สอดคล้องกับหลักการของระบบการคุ้มครองเงินฝาก ช่วยให้ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน ไม่ละเลยการบริหารความเสี่ยง จากเดิมที่อาศัยระบบคุ้มครองเงินฝากในการทำหน้าที่ดูแลความเสี่ยงทั้งหมดแทน

นอกจากนี้ การจำกัดวงเงินคุ้มครองที่ได้ครอบคลุมผู้ฝากรายย่อย หรือร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดภาระงบประมาณของภาครัฐไม่ให้สูงเกินจำเป็น ทำให้ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ตรงจุด

“ที่ผ่านมา ธปท. กำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากระบบเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ที่ร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และมีสภาพคล่องในระดับสูง สามารถรับรองความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด”.

ลองมาพิจารณากันว่า’การคุ้มครองเงินฝาก’คืออะไร ลดวงเงินจะส่งผลอย่างไร

การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินมั่นใจฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง และเป็นการดูแลผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับการคุ้มครองภายในวงเงินและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

สถาบันคุ้มครองเงินฝากก่อตั้งเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท และเพื่อให้ผู้ฝากเงินเข้าใจและปรับตัวกับระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวน จึงได้กำหนดให้ปรับวงเงินคุ้มครองลดหลั่นลงตามลำดับ (จากความคุ้มครองเต็มจำนวน 50 25 15 10 5 และ 1 ล้านบาทตามลำดับ) โดยในวันที่  11 สิงหาคม พ.ศ.2564 จะถึงกำหนดการคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทตามที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย

วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทมีผลอย่างไร

ผู้ฝากเงินทุกรายได้รับการคุ้มครองภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท โดยผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน (ผู้ฝากเงินร้อยละ 98.03 ของผู้ฝากเงินทั้งหมดเป็นผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท) ทั้งนี้ในส่วนของผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินกว่าวงเงินคุ้มครองในสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับความคุ้มครองตามวงเงิน คือ 1 ล้านบาท โดยในส่วนเกินจากวงเงินคุ้มครองจะอยู่ภายใต้การดำเนินการชำระบัญชีของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อไป ทั้งนี้การเฉลี่ยทรัพย์ที่ได้จากการชำระบัญชีจะขึ้นกับมูลค่าทรัพย์ที่ได้รับการจัดการและตามระยะเวลาที่ดำเนินการ

ผู้ได้รับการคุ้มครอง

ผู้ฝากเงินทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยการคุ้มครองผู้ฝากเงินแต่ละราย (รวมกันทุกบัญชี) ต่อ 1 สถาบันการเงิน คำนวนจาก เงินต้น ดอกเบี้ย ทุกบัญชี ทุกสาขา รวมกัน หักหนี้ที่เกินกำหนดชำระ (ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น) ภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท

เงินฝากประเภทไหนที่ได้รับความคุ้มครอง 1 ล้าน

เงินฝากเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน

ฝากเงินกับสถาบันการเงินไหนได้รับความคุ้มครอง 1 ล้าน

สถาบันการเงินภายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 19 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564) 

ส่วนธนาคารของรัฐฯยืนยันคุ้มครองเงินฝากเหมือนเดิมเพราะรัฐบาลค้ำประกัน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า  ธนาคารออมสินพร้อมดูแลและคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าทุกบาททุกสตางค์เหมือนเดิม โดยไม่มีการลดการคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด เนื่องจากธนาคารออมสินมี พ.ร.บ.จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อส่งเสริมการออมให้กับคนไทย และมีรัฐบาลเป็นประกันให้ 100%  ดังนั้นเงินฝากทุกบัญชีจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ไม่ได้อยู่ในการดูแลคุ้มครองเงินฝากกับ สคฝ. จึงไม่ลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทเหมือนสถาบันการเงินแห่งอื่น โดย ธอส.เป็นแบงก์รัฐ จึงมีความมั่นคงสูง อีกทั้งมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก จึงขอให้ลูกค้าที่ฝากเงินกับ ธอส.อุ่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลเงินฝากเหมือนเดิม โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานเงินฝากจากลูกค้าทุกประเภทกว่า 9 แสนล้านบาท

ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขอยืนยันว่าลูกค้าที่ฝากเงินกับ ธ.ก.ส.ทั้ง 21 ล้านบัญชี  วงเงิน 1.74 ล้านล้านบาท จะได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิม เนื่องจากธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐ มีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล จึงไม่มีการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากเหมือนธนาคารพาณิชย์ที่อื่นและขณะนี้ธนาคารก็มีเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากจากเกษตรกร รวมถึงเงินฝากการขยายสลากออมทรัพย์