ฟาดเจ็บ! อ.แก้วสรร ความคิดแบบเก่าๆไม่ควรมีอีกต่อไป ผู้นำต้องใช้คนให้ถูก นำความคิดใหม่ จัดการโควิด!?
จากกรณีที่วันนี้ (13 กรกฎาคม 2564) อ.แก้วสรร อติโพธิ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “เผชิญโควิดระลอกใหม่ด้วย “ความคิดใหม่”” ผ่านเว็บไซต์ไทยโพสต์ โดยมีมีเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนว่า
ความคิดใหม่ ที่ ๑ : เราต้องรู้จักอยู่กับโควิด
ถาม อะไรคือความคิดเก่า?
ตอบ ต้องทำยอดผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ ใครติดเชื้อต้องทุ่มเทหาตัวมากักกันให้หมดรวมทั้งกลุ่มเสี่ยงด้วย พบเชื้อแล้วต้องอยู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตรวจพบต้องรับรักษาเสมอผู้ติดเชื้อจะอยู่กับบ้านไม่ได้ วัคซีนต้องจัดหาและฉีดให้ราษฎรโดยรัฐเท่านั้น รัฐเท่านั้นที่จะจัดการตรวจเชื้อ ฯ
ความคิดที่เห็นตนเองเป็นพ่อ ไม่ยอมให้ชาวบ้านเลือกอะไรได้เอง ทั้งวัคซีน ทั้งการตรวจ ทั้งการดูแลรักษาตนเอง จนปฏิเสธทั้งเสรีภาพชาวบ้านกับการทำงานของกลไกการตลาดทั้งหมดอย่างนี้ นี่แหละครับคือความคิดเก่า ที่ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นเสมือนไก่ในเล้าปิดที่มีโรคระบาดเต็มเล้า มีสัตว์แพทย์ คอยออกจอชี้แจงยอดติดเชื่อยอดตาย กับผู้จัดการเดินวนพูดนะจ๊ะๆๆ ไปวันๆเท่านั้น
ถาม บ้านเราเอาตัวอย่างเขามาปรับใช้ได้บ้างไหม
ตอบ ยอดผู้ติดเชื้อไม่ต้องประกาศ บอกยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลกับความคับขันเท่านั้นก็พอ จะได้ตื่นตัวดูแลตัวเองกันมากๆ มาตรการการดูแลตนเองหรือโดยชุมชนนั้นเราต้องสนับสนุน พร้อมชุดยาและเครื่องมือจากรัฐ วัคซีนตัวไหน เครื่องมือตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบไหนที่โลกเขาใช้กันแล้ว ต้องเอาเข้ามาได้โดยสะดวก อย.ต้องลดบทบาทลงมาดูที่ข้อมูลและการโฆษณาเท่านั้น ภาษีทุกชนิดที่เกี่ยวข้องต้องไม่เสีย พอไม่เสียแล้ว รัฐก็ประกาศเข้าคุมราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควรอีกที
ถาม ในทางกฎหมายทำได้หรือครับ
ตอบ นี่คือภาวะฉุกเฉิน จะมัวคิดเป็นขุนนางหวงอำนาจ เฝ้าแต่ละเมียดอำนาจไม่ได้ นายกฯต้องออกกฎหมายพิเศษ ตราพระราชกำหนดออกมาเลย จะไปรอ หมอขุนนาง หรือหมอวิชาการเสนอทำไม มันชัดเจนแล้วว่าเรื่องโควิดนี้ เราต้องคืนเสรีภาพให้ประชาชนดูแลตนเองได้ ทั้งโดยความเป็นจริงและหลักการ “ความคิดเก่า” ไม่ควรมีที่อยู่อีกต่อไป
ถาม เขาไม่เห็นหรือครับ ว่าระบบจองวัคซีนของ “หมอพร้อม” มันใช้ไม่ได้
ตอบ มันเป็นเรื่องที่ต้องซักถามกันในสภาว่าทำไมต้องแทงม้าตัวเดียว แล้วให้จองทีเดียวแบบนั้น ลึกๆแล้วคุณต้องการเร่งสร้างภาพทางการเมืองให้ชาวบ้านสบายใจว่าได้วัคซีนแล้ว ใจเย็นได้แล้วๆว่า “วัคซีนกำลังจะหมุนไป” ใช่หรือไม่ คุณทำได้อย่างไร ทั้งๆที่เห็นความเสี่ยงอยู่เต็มหน้าอย่างนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นครับ แต่เป็นเรื่องความไว้วางใจให้กุมชีวิตของเรา
ความคิดใหม่ที่ ๒ : การบริหารใหม่
ถาม ถ้ากระทรวงหรือหมอเก่าๆ คัดค้านทิศทาง ตามความคิดใหม่นี้ จะว่าอย่างไร
ตอบ นายกฯต้องรู้ว่าตนคือผู้นำและผู้รับผิดชอบ ที่จริงนั้น ศบค.ยุบเสียก็ได้ แล้วตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีพร้อมคณะที่ปรึกษาในเรื่องโควิดนี้โดยเฉพาะ ทำงานเต็มเวลามีหน้าที่ขบคิดรวบรวมหาข้อมูล ความคิดจากฝ่ายต่างๆ มาสกัดเป็นทางเลือกทางนโยบาย ( Delivery Office ) ให้นายกฯตัดสินใจโดยอธิบายได้ให้ได้ เรื่องไหนสำคัญก็เข้า ครม. ถ้ารัฐมนตรีสาธารณะสุขขวางคลอง นายกฯก็ปลดเลย ไม่ใช่ไปรวบเอาอำนาจตามกฎหมายมาให้นายกฯสั่งการเองทั้งหมด แต่ข้อมูลกับงานมันกลับอยู่ที่กระทรวงอย่างนี้ มันผิดหลักจริงๆ
ถาม แล้ว นายกฯทุกวันนี้ ทำอะไรอยู่
ตอบ ปัญหาอยู่ที่เขาไม่ยอมเป็น “ผู้นำ” ครับ เขาให้ ศบค.เป็นผู้พิจารณาและพูดให้เขาฟังเป็นเรื่องๆตามแต่วิกฤตมันจะพาไป งานการมันจึงตามหลังปัญหาตลอด ศบค.เองก็ตัดสินโดยการประชุมเป็นครั้งคราวตามประเด็นปัญหาที่ปรากฎเท่านั้น ทำงานอย่างนี้ มันสร้างการตัดสินใจไปในอนาคตด้วยข้อมูลและทางเลือก ที่ครบถ้วนกลั่นกรองแล้วไม่ได้
ถาม ทำไมการจัดหาวัคซีน ถึงเละตุ้มเป๊ะเช่นทุกวันนี้
ตอบ นายกฯอังกฤษ ตั้ง “คณะทำงานจัดหาวัคซีน” ตั้งแต่ได้ข่าวอูฮั่นแล้ว เขาเลือกจากคนที่เหมาะสมโดยครบถ้วนจริงๆ หมอขุนนางจากกระทรวงมีที่นั่งแค่ ๑ ที่นั่ง หมอวิชาการอาวุโสที่มั่นใจตนเองมาก แต่ความรู้น้อยไม่เท่าทันกับความก้าวหน้าในวงวิชาการที่เกี่ยวข้องเขาก็ไม่เอา ผู้ใหญ่ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการหาแหล่งเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ เขาก็เอาเข้ามานั่งด้วยจะได้ชี้ให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่แทงม้าตัวเดียว แล้วเอาม้าขาเป๋มาทดแทนแบบบ้านเรา
ถาม แล้วไม่มีอะไรจะพูดกับนายกฯ เลยหรือครับ?
ตอบ นายกฯเปรม ท่านก็มาจากระบบเลือกตั้งครึ่งใบเหมือนกัน แต่ท่านไม่มีอีโก้ และรู้ซึ้งถึงความรับผิดชอบว่าท่านต้องเป็นผู้นำ ที่สำคัญท่านรู้จักใช้ความรู้ ท่านรู้ว่าท่านไม่รู้อะไรบ้าง รู้ว่าความรู้อะไรที่ต้องใช้ ความรู้นั้นอยู่ที่ไหน ใครคือคนที่ต้องพึ่งพาให้มาช่วยบ้านเมือง แต่นายกฯปัจจุบัน ไม่ใช่คนอย่างนั้น และอุปนิสัยที่ฝังลึกอย่างนี้ มันเปลี่ยนกันไม่ได้ด้วย เป็นเรื่องส่วนบุคคลคุณอย่าไปเหมารวมว่าทหารใช้ไม่ได้
ถาม ท่านนายกฯเปรมไม่พูด “นะจ๊ะ” ด้วยนะครับ
ตอบ นายกฯจะพูดจ้ะพูดจ๋าก็ไม่เป็นไร ถ้อยคำมันไมใช่ปัญหา แต่ท่าทีและพฤติการณ์ที่แสดงจนรู้ได้ว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ยากของประชาชนเลยนั้น ตรงนี้ต่างหาก ที่เป็นปัญหาด้านการสื่อสารของนายกฯคนนี้
ถาม พูดอย่างนี้ ต้องมีคนไม่เห็นด้วยกับอาจารย์มากทีเดียว
ตอบ เราต้องสร้างระบบที่ทำให้ประโยชน์อันเป็นธรรมของราษฎรจำนวนมากที่สุดปรากฏขึ้นมาเป็นเสาหลักในบ้านเมือง ให้ได้ ตรงนี้คือกระบวนการทางการเมืองที่พวกเราราษฎรต้องช่วยกันคิดอ่านและแสดงออก จนเกิดการตัดสินใจ ของ “ประชาชน”ขึ้นมาได้ในที่สุด ผมยังเชื่อว่ากระบวนการนี้ยังเป็นไปได้ ราษฎรคนไหนจะรักหรือเกลียด ลุงตู่หรือโทนี่ทักษิณ หรือบ้าชูสามนิ้วไล่งับหางชาติตัวเองไปวันๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ผมไม่ใส่ใจ ผมใส่ใจกับกระบวนการของ “ประชาชน” เป็นส่วนรวม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaipost.net/main/detail/109565