แรมโบ้ ซัดหมอบุญ “นายทุนในคราบหมอ” หวังค้าวัคซีนเอากำไร?? ย้อนธุรกิจรพ.-ร่วมแนะนำแปลงธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์!?

2390

แรมโบ้ ซัดหมอบุญ “นายทุนในคราบหมอ” หวังค้าวัคซีนเอากำไร?? ย้อนธุรกิจรพ.-ร่วมแนะนำแปลงธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์!?

จากกรณีที่นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่าการเจรจากับทาง”โมเดอร์นา”ที่จะซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดสยังไม่มีความคืบหน้าเฉพาะการจองวัคซีน “โมเดอร์นา” ที่เริ่มไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมากลับพบว่าองค์การเภสัชกรรมหน่วยงานเดียวที่สามารถเซ็นเอกสารทำสัญญาบริษัทผู้ผลิตฯระบุปัญหาเรื่องยังค้างอยู่ที่อัยการสูงสุด

“การสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของเอกชนไม่สามารถทำได้ต้องดำเนินการโดยรัฐบาลความคิดที่สั่งซื้อช่วงแรกเมื่อช่วงเดือนมกราคมจึงสะดุดกระทั่งช่วงเดือนเมษายนได้รับข้อมูลว่าเอกชนสามารถจองซื้อได้แต่ต้องให้องค์การเภสัชฯเซ็นสัญญาแต่ที่เราจองวัคซีนโมเดอร์นาไว้จนมาวันนี้ กลับติดค้างที่การทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งที่ผ่านมาแล้วตั้งหลายเดือนเหตุใดการพิจารณาของอัยการสูงสุดยังไม่สิ้นสุดเสียที

ต่อมาทางสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดหรือองค์กรใดส่งร่างสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างแต่อย่างใด ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดเคยได้รับการร้องขอจากองค์การเภสัชกรรม ให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนชิโนแวค (Sinovac) ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับองค์การเภสัชกรรม แล้วเสร็จภายใน 1วัน และสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการร้องขอจากสถาบันวัคนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคชีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) ซึ่งทั้งสองสัญญาสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับสองหน่วยงานดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 5 วัน เท่านั้น

โดยการพิจารณาตรวจร่างสัญญา ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตระหนักในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ที่สังคมไทยเรากำลังเผชิญอยู่และเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมมือร่วมใจ ในการฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้ล่วงพ้นไป สำนักงานอัยการสูงสุดจึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในสถานการณ์วิกฤตโควิด หมอบุญก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องการบริหารจัดการหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยล่าช้า หมอบุญ คือหนึ่งในนักธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีบทบาทผ่านการขับเคลื่อนในาม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอซื้อวัคซีนทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์ และต่อมามีการให้สัมภาษณ์พาดพิงองค์การเภสัชกรรมทำนองว่า องค์การเภสัชฯ ชาร์จค่าบริหารจัดการอีก 5 – 10% จากกลุ่มรพ.เอกชน จนเกิดดราม่า จนธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ต้องร่อนหนังสือ แสดงความเสียใจ ต่อบทสัมภาษณ์ดังกล่าวที่ทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหาย
ล่าสุดวันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ชี้แจงตอบโต้กรณีข่าว  นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกมากล่าวหาโจมตีการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลว่า ล่าช้า ไม่ยอมดำเนินการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์น่า  โดยยกย่องว่า เป็นวัคซีนที่ดีที่สุด  อ้างว่า วัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาใช้นั้นเป็นเกรดซี  และอ้างว่า ประเทศเพื่อนบ้านเราได้รับไฟเซอร์กันหมดแล้ว

คนในวิชาชีพหมอ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่น่ายกย่อง ยกมือไหว้ได้ เคารพได้ เพราะรักษาชีวิตผู้คน ยกเว้นหมอบางจำพวกที่แท้จริงเป็นนายทุน เป็นนักแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่อยู่ในคราบหมอ น่าเสียใจที่หมอบุญ ซึ่งเป็นนักธุรกิจหลายประเภท ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกมาให้ข้อมูลที่บิดเบือน เจตนาจะทำให้คนเข้าใจผิดในการทำงานของภาครัฐ และการจัดหาวัคซีน ซึ่งก็ดูแลโดยทีมหมอที่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ในยามนี้ ซึ่งความเป็นจริง หากดูไทม์ไลน์แล้ว ภาครัฐไม่ได้ล่าช้าเลย 25 ก.พ.64 ก่อนการระบาดใหญ่ องค์การเภสัชฯ ติดต่อตรงไปแสดงความจำนงค์ ไปยัง บ.โมเดอร์นา ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อสั่งจองวัคซีนกว่า 5 ล้านโดส พร้อมสอบถามความเป็นไปได้ว่า จะได้ทัน มิ.ย.64 หรือไม่ 28 ก.พ.64 องค์การเภสัชฯ ได้รับคำตอบกลับมาว่า ซัพพลายมีจำกัด เนื่องจากมีความต้องการสูงมาก ทำให้สามารถส่งได้เร็วสุด คือ ไตรมาสแรกของปีหน้า (มกราคม – มีนาคม 2565) 1 เม.ย.64 องค์การเภสัชฯ สอบถามเพิ่มเติมว่า Moderna ได้ตั้งบริษัทใดเป็น Authorized dealer เนื่องจากมีผู้แสดงตัวว่า สามารถนำวัคซีนเข้าให้ไทยได้มากกว่า 2 ตัวแทน

2 เม.ย.64 บ.โมเดอร์นา ได้แจ้งว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับ “บริษัทซิลลิค” (Zuellig Pharma LTD.) แต่เพียงผู้เดียว และหวังว่า จะสรุปสัญญากับ ซิลลิค ให้เร็วที่สุด

15 พ.ค.64 บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ได้ออกแถลงการณ์ว่า “การจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นา ต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้ คือ องค์การเภสัชกรรม” เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชน จัดส่งความต้องการวัคซีนจริง พร้อม “วางเงิน” เพื่อให้องค์กรเภสัช สั่งวัคซีนจากบริษัท ซิลลิค ตัวแทนจัดหน่ายวัคซีน Moderna ในประเทศไทย

2 ก.ค. 64 องค์การเภสัชฯ ได้รับเอกสารจากฝั่งของซิลลิค เพื่อแนบไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งขอย้ำว่า เพิ่งได้รับเอกสารวันที่ 2 ก.ค.หลังจากวันที่ นพ.บุญออกมาพูด ไม่ใช่ว่าภาครัฐเพิ่งทำ หลัง นพ.บุญ โจมตี แต่ภาครัฐดำเนินการมาโดยตลอด เจรจามาโดยตลอดเพื่อขอให้ได้วัคซีนมาเร็วที่สุด แต่ฝ่ายเอกชนเพิ่งส่งเอกสารมาภายหลังเช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ ลงนามใบจองไปแล้ว 20 ล้านโดส เร่งให้ได้ของเร็วที่สุดแล้ว คือไตรมาส4 ปีนี้ ร่างสัญญาจะเข้า ครม.

“ถ้าหมอบุญใจบุญต่อประเทศชาติและคนไทยจริง ทำไมไม่เร่งให้ผู้ผลิตวัคซีนทั้งโมเดอร์น่า ทั้งไฟเซอร์ รีบดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ รวมทั้งขอขึ้นทะเบียน อย. เพิ่งมาขอขึ้นทะเบียนภายหลัง ซึ่งทางการไทยก็ดำเนินการให้อย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าหมอบุญใจบุญจริง เมื่อองค์การเภสัชฯ ประกาศจะขายวัคซีนโมเดอร์นา ให้โรงพยาบาลเอกชน ราคา โดสละ 1,100 บาท (ราคารวมรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ควรจะนำไปขายต่อในราคาที่มีส่วนต่างมากเกินไป”

นายเสกสกล ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนของหมอบุญ แจ้งว่า จะคิดบริการรวมค่าฉีดวัคซีน 1,700 บาท ต่อโดส  ประกาศรับชำระค่าวัคซีนทางเลือกก่อนแล้วด้วย มีส่วนต่างราคาที่รับมาจากองค์การเภสัชกรรมถึงโดสละ 600 บาท จำนวน 5 ล้านโดส ก็คือส่วนต่าง 3,000 ล้านบาท ยิ่งพฤติกรรมของหมอบุญที่ออกมากล่าวหา กดดันให้รัฐต้องรีบเซ็นสัญญา ทั้งๆ ที่ ภาครัฐก็ต้องเจรจาเพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด แต่หมอบุญกลับมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ ยิ่งทำให้เห็นธาตุแท้แห่งพฤติกรรมว่า ต้องการทำเพื่อคนไทยจริงๆ หรือเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการค้าวัคซีน

“สมแล้วที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ออกมาเตือนว่า โรงพยาบาลเอกชน และผู้ซื้อ ต้องตกลงเงื่อนไขต่างๆ กันให้ได้ก่อน เพราะการซื้อวัคซีนดังกล่าว รัฐบาล หรือ องค์การเภสัชจะต้องไม่รับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น  โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องการเงิน เช่น หากรัฐบาลจ่ายเงินให้ก่อน แล้วเอกชนเปลี่ยนใจไม่เอา ซื้อมาแล้วก็จะส่งผลกระทบกับรัฐบาล กรณี นพ.บุญ วนาสิน จะมาโทษกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาลไม่ได้เลย หากอยากซื้อเพื่อเอากำไร ก็ต้องไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตให้เรียบร้อย แล้วก็ค่อยมาแจ้งองค์การเภสัช เพื่อจะเร่งดำเนินการให้ แต่ก็อย่ามามือเปล่า  คราวที่แล้ว หมอบุญออกมาโจมตีองค์การเภสัชฯ แล้วในที่สุดลูกหลานต้องออกมาทำหนังสือขออภัย ครั้งนี้เอาอีกแล้วหรือ”

นายเสกสกล กล่าวว่า  บรรดาคุณหมอที่ไปช่วยงานภาครัฐจัดการวัคซีน ล้วนเป็นนักวิชาการเก่งกล้าด้วยใจบริสุทธิ์ แต่กับนายทุนธุรกิจโรงพยาบาล(ในคราบหมอ)ที่เห็นช่องทางหารายได้เพิ่ม เที่ยวไปสัญญากับประชาชนแล้วมากดดันภาครัฐว่าเป็นจระเข้ขวางคลอง เช่น การอ้างว่ารู้จักคนใหญ่คนโตบริษัทฯวัคซีนต่างชาติ ถ้าจริงดังว่าทำไมไม่ติดต่อจัดหามาให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตนจึงอยากเตือนหมอบุญ ว่าพฤติกรรมตอนนี้ทำให้หน้ากากหลุดไปเยอะแล้ว คนเห็นธาตุแท้ล่อนจ้อนแล้ว อย่าให้เด็กรุ่นหลังต้องไปขุดคุ้ยพฤติกรรมเกี่ยวกับธรณีสงฆ์อัลไพน์ขึ้นมาเรียนรู้กันเลยว่า ใครเป็นนักบุญ ใครเป็นคนบาป ร่วมด้วยช่วยแนะนำให้แปลงธรณีสงฆ์จนมาเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์และหมู่บ้านจัดสรรในความดูแลของตนเอง ยิ่งในวงการการเมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเขารู้กันดีว่า หมอที่เป็นนักล็อบบี้ยิสต์เครือข่ายใกล้ชิดนายทักษิณวิ่งเข้าหาผลประโยชน์เพื่อธุรกิจตัวเองจนร่ำรวยมหาศาลเป็นหมอในคราบนักบุญใจบาปเป็นหมอคนไหน และเป็นหมอที่ชี้นิ้วสั่งนักการเมืองบางกลุ่มได้เพราะมีผลตอบแทนล่อจูงใจ นักการเมืองรุ่นเก่าๆทุกคนรู้จักหมอคนนั้นเป็นอย่างดี

“ถึงอย่างไร หากแม้สูญเสียจิตวิญญาณความเป็นหมอ โดยเป็นนายทุนนักธุรกิจเต็มตัวแล้ว ก็อย่าได้ถึงขนาดเสียหมาไปกับการบิดเบือนข้อมูลการจัดหาวัคซีนเพื่อโจมตี ดิสเครดิตคนทำงานให้เสียกำลังใจเลย จิตแห่งความดีเพื่อประเทศชาติประชาชน ก็ขอให้มีมโนธรรมสูงกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวบ้างสักนิด อย่าถึงขั้นต้องหน้ามืดตามัว มองแต่ผลประโยชน์ส่วนต่างจากวัคซีน โดยไม่ห่วงประเทศชาติ ไม่สนใจว่าผลกระทบจากคำพูดและการกระทำของตัวเอง จะส่งผลเสียหายให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อนายกฯและบุคลากรที่ตั้งใจทำงาน เพียงเพื่อหวังให้ประชาชนออกมารุมกระหน่ำซ้ำเติม ตำหนิโจมตีด่าทอนายกฯและรัฐบาลอย่างหนัก พฤติกรรมการกระทำของหมอบุญเช่นนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง หมอบุญอย่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ธุรกิจตัวเองมากเกินไป เดี๋ยวจะเสียหมอเป็นเสียหมามากกว่า”

อย่างไรก็ตาม สำหรับบมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ของนายแพทย์บุญ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเครือข่ายด้านโรงพยาบาลและการแพทย์ ในระดับกลุ่มทุนรายใหญ่ของวงการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นกลุ่มหุ้นบิ๊กล็อต รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมอบุญเองก็ถือว่า เป็นหนึ่งในเศรษฐีหุ้นรายใหญ่ของประเทศไทยมาหลายสิบปี มีชื่อโด่งดังในวงการสาธารณสุขภาคเอกชนมานาน เพราะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
โดยในทางการเมือง เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อร่วม 30 ปีที่แล้ว หมอบุญ มีความสนิทกับนักการเมืองรุ่นเก่า ในเวลานั้น หมอบุญ มีชื่อเป็นข่าวโด่งดัง จากการเข้าไปมีชื่อเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินธรณีสงฆ์ อัลไพน์ เพราะหมอบุญ ก็คือ ประธานบริหารบริษัทอัลไพน์ เรียลเอสเตท ที่มีทั้ง นายเสนาะ เทียนทอง นางอุไรวรรณ เทียนทอง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ร่วมเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทอัลไพน์
ซึ่งหมอบุญ ก็เคยเปิดแถลงข่าวกับสื่อในเรื่องนี้โดยยอมรับเองว่า เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเจรจาซื้อขายที่ดินอัลไพน์ จากวัดธรรมมิการามวรวิหาร จากนั้นนำที่ดินมาทำสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์ และมีการตั้งบริษัททำธุรกิจในที่ดินดังกล่าว โดยตนเองก็มาตั้ง บริษัท ราชธานีบ้านและที่ดิน จำกัด เพื่อบริหารหมู่บ้านอัลไพน์ ส่วนสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็เป็นของนายเสนาะ ก่อนที่จะขายสนามกอล์ฟให้นายทักษิณ ชินวัตร จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เกิดคดีความมากมายมาถึงปัจจุบัน